สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : กระชาย ยาพื้นบ้าน ช่วยดูแลกระดูก สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

กระชาย ยังถูกเรียกว่า “Thai ginseng” หรือ “โสมไทย” ใช้บำรุงสมรรถภาพทางเพศ ในการแพทย์พื้นบ้านถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอความเสื่อมของอวัยวะ พืชชนิดนี้ มีสารประกอบทางเคมีเกือบ 100 ชนิด มีฤทธิ์ทางยาที่หลากหลาย รวมถึง ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มจากเชื้อก่อโรคในช่องปาก ไบโอฟิล์มที่หนาขึ้น อาจระคายเคืองเหงือก ส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาและแสดงการอักเสบของเหงือก โดยเกิดจากการสะสมของเชื้อโรค การรักษาในปัจจุบัน เน้นการกำจัดเชื้อก่อโรคในช่องปาก โดยการขูดหินปูนนํ้าลาย การเกลารากฟัน และอาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยในบางกรณี

จากการศึกษาพบว่า สารแพนดูราทิน เอ (Panduratin A) ที่พบในเหง้ากระชายมีผลต่อโรคในช่องปาก โดยสามารถป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคในช่องปากได้ ส่งผลให้ลดการสร้างไบโอฟิล์ม และลดปัญหาเหงือกอักเสบได้ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนภูมิปัญญาของหมอยาพื้นบ้านว่า “กระชายนั้นแก้โรคอันเกิดแต่ในปาก”

นอกจากจะมีประโยชน์ในการใช้ช่วย ต้านไวรัส บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้จมูกไม่ได้กลิ่น รักษาโรคปริทันต์ในช่องทางแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่ของการใช้เพื่อดูแลกระดูกได้อีกด้วย

มีงานวิจัยในหลอดทดลอง ได้รับการจดสิทธิบัตรที่ประเทศเกาหลี พบว่า สารสกัดกระชาย ชื่อ แพนดูราทินเอ (Panduratin A ) ช่วยยับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูก (osteoclasts) ตั้งแต่กระบวนการสร้างและเพิ่มจำนวนของเซลล์ โดยการศึกษานี้พบว่ากระชาย เป็นสมุนไพรที่น่าสนใจในการพัฒนาเป็นอาหารหรือยา ในแง่ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน (prevention)  ชะลอความรุนแรงของกระดูกพรุน (improvement) รักษากระดูกพรุน (treatment) กลไกที่พบของสารสกัดกระชาย จะช่วยทำให้ระบบการสร้างและสลายกระดูกกลับมาสู่สมดุล (restoring and improving the balance of bone formation and absorption in bone remodeling process)

สำหรับ ประสบการณ์ของการใช้พื้นบ้าน มีรายงานใช้กระชายเพื่อ บำรุงกระดูก แก้ปวดเอว สำหรับขนาดยา ยังไม่มีการศึกษาในคนที่มีปัญหากระดูกพรุน แต่พบการใช้ผงของสารสกัดกระชาย ในผู้ป่วยภาวะอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ในขนาดผง 350 mg วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าปลอดภัย หรือแนะนำกินในรูปแบบอาหาร

ข้อควรระวัง : กระชายมีฤทธิ์ร้อน ไม่ควรรับประทานเมื่อมีไข้ หรือรับประทานขนาดสูงในผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร อาจทำให้ระคายเคือง และ ผู้ที่มีความผิดปกติของตับไตควรปรึกษาก่อนรับประทาน การรับประทานร่วมกับยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน (Warfarin) อาจเสริมฤทธิ์ยาได้

ติดตามอภัยภูเบศร

YouTube : อภัยภูเบศร

Line @abhai_herb

ปรึกษาหมอออนไลน์ https://lin.ee/HGT0wkz

ข้อมูลอ้างอิง

https://patents.google.com/patent/WO2017150934A1/en

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32998148/