วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและมอบแนวทางในการดำเนินงานแหล่งเรียนรู้กลุ่มกล้วยตากแสงแรก เขมราษฏร์ธานี หมู่ที่ 1 ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมี นายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ นางมลิวัลย์ ปูคะธรรม พัฒนาการอำเภอเขมราฐ นายวชิระ วิเศษชาติ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ นายอลงกต แสวงสุข นายกเทศมนตรีตำบลเทพวงศา หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและผู้มีส่วนมีเกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน พร้อมนี้ นางลัดดา เจษฎาพานิชย์ ประธานกลุ่มกล้วยตากแสงแรก เขมราษฏร์ธานี ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของกลุ่มฯ ซึ่งถือเป็นการนำผลผลิตจากจากกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากในพื้นที่ดินแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงวิธีการดำเนินงานของกลุ่ม พร้อมสาธิตวิธีการทำกล้วยตาก ตลอดจนช่องทางการตลาด ปัญหาและความต้องการในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โอกาสนี้ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยถึงการมาเยี่ยมเยือนกลุ่มกล้วยตากแสงแรก เขมราษฏร์ธานี ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายผลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ไปสู่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนงานเพื่อความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น หรือ Quick Win โดยคณะทำงานในพื้นที่อำเภอเขมราฐ ซึ่งมีโครงการริเริ่ม สร้างสรรค์ในพื้นที่ โดยเฉพาะการการนำผลผลิตจากแปลง “โคก หนอง นา” ไปแปรรูปผลผลิต พร้อมยกระดับและสร้างตลาดรองรับที่มีประสิทธิภาพ โดยขอรับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย อย่างเช่น กลุ่มกล้วยตากแสงแรก เขมราษฏร์ธานี ที่นำผลผลิตกล้วยน้ำว้า มาแปรรูปและสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ตั้งแต่ชื่อกลุ่มที่นำถิ่นที่ตั้งและสภาพพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นจังหวัดที่รับแสงตะวันแห่งแรกก่อนใครในสยาม รวมถึงชื่อเดิมของอำเภอเขมราฐ คือ “เมืองเขมราษฎร์ธานี” จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงจากแหล่งท่องเที่ยวและได้นำผลผลิตไปจำหน่ายบนถนนสายวัฒนธรรมทุกเย็นวันเสาร์อีกด้วย
ขณะที่ นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบแนวทางในการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มกล้วยตากแสงแรก เขมราษฏร์ธานี ในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ OTOP การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มผช.) การขอ อย. การแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ในช่องทางการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนการเชื่อมโยงผลผลิตจากครัวเรือน “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ปลูกกล้วยน้ำว้า ได้นำมาจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการบูรณาการและเชื่อมโยงการสนับสนุนจากส่วนราชการในพื้นที่ ได้ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของอำเภอเขมราฐ สามารถสร้างรายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนท้องถิ่นต่อไป
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขมราฐ.. ภาพข่าว/รายงาน