กรมทางหลวงชนบท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการคมนาคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก่อสร้างเส้นทางสายบ้านคูระ จ.ปัตตานี ระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร

กรมทางหลวงชนบท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการคมนาคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก่อสร้างเส้นทางสายบ้านคูระ จ.ปัตตานี ระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จมีนาคม 2565 ยกระดับมาตรฐานทางเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการสัญจร ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 – บ้านคูระ (ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2) อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี คืบหน้ากว่าร้อยละ 70 ยกระดับเส้นทางสนับสนุนการคมนาคมขนส่งและการเดินทางภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการคมนาคมอย่างสะดวกและปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ถนนสายบ้านคูระเป็นถนนที่เชื่อมต่อจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 เข้าสู่อำเภอแม่ลาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนในพื้นที่ใช้สัญจรไปมาและใช้เดินทางไปยังสถานที่ราชการ อาทิ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ และโรงเรียน อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงมีการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรผ่านเส้นทางดังกล่าวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เป็นประจำ แต่เนื่องจากเขตทางเดิมค่อนข้างคับแคบและเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นลูกรัง ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรจากถนนสายหลักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทช.จึงได้ก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 – บ้านคูระ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี รวมระยะทาง 6.375 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการเดินทางและการขนส่งให้มีความสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง นำไปสู่การสร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ตอน ดังนี้

– ตอนที่ 1 ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 1+250 ระยะทาง 1.25 กิโลเมตร พร้อมสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 1 แห่ง (งบประมาณ 40.5 ล้านบาท)

– ตอนที่ 2 ช่วง กม.ที่ 1+250 ถึง กม.ที่ 6+375 ระยะทาง 5.125 กิโลเมตร (งบประมาณ 49.5 ล้านบาท)

ซึ่งรูปแบบการก่อสร้างทั้ง 2 ตอน เป็นผิวจราจรแบบพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 0 – 2.5 เมตร ก่อสร้างทางเท้าบริเวณเส้นทางช่วงที่ผ่านสถานที่ราชการ รวมระยะทาง 1,000 เมตร และก่อสร้างคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะ (Slope protection) บริเวณเส้นทางช่วงเลียบคลองเพื่อป้องกันกระแสน้ำกัดเซาะไหล่ทาง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตลอดเส้นทาง

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการด้านงานผิวจราจร งานติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยและเครื่องหมายจราจร ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมให้ประชาชนใช้สัญจรในเดือนมีนาคม 2565