บพข. เปิดเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพ “ปรับกาย เสริมจิต ชีวิตสมดุล” อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม (2 วัน 1 คืน เดินทางโดยรถรางนำเที่ยว)

บพข. เปิดเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพ “ปรับกาย เสริมจิต ชีวิตสมดุล” อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสรคม (2 วัน 1 คืน เดินทางโดยรถรางนำเที่ยว) ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยชุมชน สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

**HELLO นาดูน*** เส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพ “ปรับกาย เสริมจิต ชีวิตสมดุล” อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยว ให้เป็นพื้นที่และเส้นทางท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด นำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนและต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดในอนาคต ซึ่งได้มีการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยว โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายอำเภอนาดูน ผู้กำกับ สภ.นาดูน นายก อบต.นาดูน สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม และคณะผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการการวิจัย ไปเมื่อวันที่ 15 และ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

เส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้การจัดสรรทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการทำการวิจัยภายใต้แผนงานโครงการ “การบริหารการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพจังหวัดมหาสารคาม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ” โดยมีนักวิจัยจำนวน 35 คนจำก 10 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ คณะท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะการบัญชีและการจัดการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตรศิลป์ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันวิจัยวลัยรุกเวช และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยว 3 ชุมชน ได้แก่ บ้านโกทา บ้านดงน้อย ตำบลพระธาตุ และตำบลหนองคู อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมาพัฒนาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและทุนชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการท่องเที่ยว

ซึ่งโครงการภายในแผนงานประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพจากฐานภูมิปัญญาสมุนไพรและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีเป้าหมายหลักสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม 4 มิติ ทั้งด้าน ได้แก่ กาย ใจ สังคม ปัญญา ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดขึ้นจากฐนภูมิปัญญา 3 ฤดูกาล ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทเครื่องดื่ม ได้แก่ ตำรับเครื่องดื่มสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน 3 ฤดู ได้แก่ ตรีผลา เครื่องดื่มสำหรับฤดูร้อน ตรีกฎกสำหรับฤดูฝน ตรีสารสำหรับฤดูหนาว ประเภทน้ำมันหอมระเหย ได้ตำรับน้ำมันหอม อโรมาเพื่อผ่อนคลายสำหรับ 3 ฤดูจากสมุนไพรในชุมชน คือเปราะหอม มหาหงส์ ข่า มะกรูด ตะไคร้บ้านและตะไคร้หอม และตำรับน้ำมันหอมระเหยที่ผ่อนคลายจากดอกลีลาวดี มะลิ และกุหลาบ ประเภทเครื่องสำอาง ได้แก่ ตำรับมาร์คหน้าจากการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นได้แก่ รางจืด รากสามสิบ ตุมตัง เพื่อการขจัดสารพิษ เพิ่มความชุ่มชื่น และเรื่องสิวฝ้า ด้านการสร้างมาตรฐานรองรับนักท่องเที่ยวได้มีการสร้างมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และสำหรับทุกคน (Tourism For All) มีการออกแบบเทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ หมออีสาน สำหรับด้านบริการสุขภาพมีการออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพสามฤดู (Wellness Program) ตามศาสตร์การแพทย์แผนในการให้บริการบำบัดรักษาสุขภาพด้วยวิธีการดั้งเดิม ผสมผสานกับแนวคิดเรื่องความสมดุลของคนและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ 5 กิจกรรม ได้แก่

1) Check-in& check up

2) Mind- body wellness and purifying retreat program

3) การบริหารกายและจิตยามรุ่งอรุณ

4) อาหารสุขภาพจากฐานภูมิปัญญา 3 ฤดู

5) กิจกรรมตระหนักรู้ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน

โครงการย่อยที่ 2 เป็นการพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากฐานภูมิปัญญาสมุนไพรและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการวางแนวทางการตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการเพื่อเข้าถึงกลุ่มตลาดเป้าหมาย การพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนในการสร้างเนื้อหาเรื่องราวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาด โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Local & Regional Seekers ที่ให้ความสนใจกับการเติมพลังให้กับตนเองเพื่อเยียวยาจิตใจและฟื้นฟูพลังสร้างสมดุลให้ชีวิต การได้ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปัจจัยดึงดูดที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือ อาหารและกิจกรรมท้องถิ่นมีวัตถุดิบที่หลากหลาย กิจกรรมท่องเที่ยวเทศกาลและกิจกรรมสันทนาการ และกลุ่ม Relationship Enhances ที่สนใจปัจจัยดึงดูดสำคัญคือ ความสวยงามของภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยว มีสถานที่ช่วยผ่อนคลายทางธรรมชาติ และมีความปลอดภัย สะอาดและสุขอนามัยที่ดี มีการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการสร้างช่องทางในการสร้างเนื้อหาเรื่องราวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาด นำเสนอสินค้าและบริการให้น่าสนใจ บน Social media เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 พื้นที่

พื้นที่ปฏิบัติการ ได้แก่ บ้านโกทา บ้านดงน้อย ตำบลพระธาตุ และตำบลหนองคู อำเภอนาดูน ได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการการท่องเที่ยว มีการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ระบบตลาดและต้นทุน การพัฒนากลไกและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การบูรณาการการท่องเที่ยวและการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนครจำปาศรี มีการจัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดรับกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัด

การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพ เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยว ให้เป็นพื้นที่และเส้นทางท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด นำไปสู่การใช้ประโยชน์และการขยายผลด้วยความร่วมมือในการจัดการท่องเที่ยวกับพันธมิตรการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกจังหวัด ในการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต จากการลงพื้นที่ทดสอบเส้นทางครั้งนี้ พบว่าชุมชนพื้นที่นาดูนมีความพร้อมในการให้บริการนักท่องเที่ยวได้แล้ว