บทเรียน และทางออกก.ม.คุมธุรกิจของต่างด้าว

ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลในการผลักดันประเทศไปสู่โครงสร้าง เศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามแนวคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการกำหนด เป้าหมายและการดำเนินการในหลายด้านรวมทั้งการผลักดันนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลักที่ใช้ในการกำกับดูแลการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างด้าวที่แปลงมาจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ปี พ.ศ. 2515 กลับไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและสภาพการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากว่า 45 ปี เกี่ยวกับเรื่องนี้  นางวีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 เป็นกฎหมายแม่บทในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศ กฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติที่มีความสำคัญยิ่ง2 ประการ คือ 1. กำหนดนิยามของบริษัทต่างด้าว และ 2. กำหนดประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ

ในส่วนของนิยามของคนต่างด้าวนั้น กฎหมายนี้กำหนดให้ พิจารณาสัญชาติ ของบริษัทจากตัวแปรเดียว คือ ดูสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว หากบริษัทใดมีบุคคลหรือบริษัทต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด จะถือว่ามีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างชาติสำหรับประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวดำเนินการนั้นจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท 1 เป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ เช่น การแพร่ภาพกระจายเสียง และสิ่งพิมพ์ การเลี้ยงสัตว์ การทำป่าไม้ เป็นต้น ประเภท 2 เป็นธุรกิจ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ การทำเหมือง เป็นต้น และประเภท 3 เป็นธุรกิจที่คนไทย ยังไม่พร้อมแข่งขันกับกิจการของคนต่างด้าว เช่น การนำเที่ยว การขายทอดตลาด เป็นต้น หากแต่รายการที่ 21 ในบัญชี 3 ดังกล่าวได้ระบุให้ “บริการอื่นๆ” เป็นบริการที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการ ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจบริการทุกประเภทเป็นธุรกิจที่สงวนหมด

ที่ผ่านมา กฎหมายนี้มักจะถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากใน 2 เรื่องเรื่องแรกคือ นิยามของคนต่างด้าวที่หละหลวม การพิจารณาสัญชาติของบริษัทเพียงจากสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรง ทำให้ธุรกิจต่างชาติสามารถเข้ามามีอำนาจในการควบคุมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการบรษิ ทั ในทางปฏบัติได้โดยการถือหุ้นทางตรงเต็มเพดานที่ 49% และถือหุ้นทางอ้อมผ่านผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทไทยอีกชั้นหนึ่งโดยไม่ผิดกฎหมาย เรื่องที่สอง มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจาก ห้ามคนต่างด้าวลงทุนในธุรกิจบริการ “ทุกประเภท” ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องของบริการเกือบทั้งสิ้นแม้กฎหมายจะอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ต้องการประกอบธุรกิจบริการสามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นรายกรณีได้ แต่การศึกษาสถิติการให้อนุญาต พบว่าบริการที่ได้รับการอนุญาตส่วนมากจำกัดเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่มเป็นการเฉพาะ ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญาในโครงการของรัฐ และธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนเท่านั้น การมีนิยามของคนต่างด้าวที่หละหลวมประกอบกับข้อห้ามในการลงทุนในสาขาบริการแบบ “ครอบจักรวาล” ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจทำให้ทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในฐานะนิติบุคคลไทย ทั้งอย่างถูกกฎหมายด้วยการถือหุ้นทางอ้อม และอย่างผิดกฎหมายด้วยการถือหุ้นผ่านนอมินีหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย

ปัญหาที่ตามมาคือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะบัญญัติกฎหมายไว้เข้มงวดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในทางหนึ่ง หน่วยงานภาครัฐของไทย ต้องการสงวนอำนาจในการกลั่นกรองการลงทุนของต่างชาติผ่านการกำหนดรายการประเภทธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยมีมาตรการปกป้องคุ้มครองผ้ปู ระกอบการภายในประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่ง เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาทุนต่างชาติ จึงมีการผ่อนปรนนิยามให้คนต่างชาติสามารถถือหุ้นทางอ้อมได้ วิธีการดังกล่าวทำให้นโยบายการลงทุนของคนต่างชาติของไทยมีลักษณะ “ปากว่า ตาขยิบ” มาโดยตลอดนักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทางออกของปัญหาข้างต้นนั้นควรดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นแบบ “package” โดยปรับปรุง ใน 2 ส่วนไปพร้อมกัน ทั้งการปรับปรุง นิยามของคนต่างด้าวให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และการปรับปรุงสาขาธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการ

จากการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ส่วนมากจะไม่มีกฎหมายแม่บท ที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในการประกอบธุรกิจใดๆ แต่จะมีกฎหมายเฉพาะในรายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือ เศรษฐกิจของชาติ ที่อาจมีบทบัญญัติที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติ นอกจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าวแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วมักมีกฎหมาย ที่ให้อำนาจรัฐในการกลั่นกรองการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาซื้อกิจการในประเทศ (mergers andacquisition) เช่น Exon-Florio Amendment ปี ค.ศ. 1975 ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐ ในการยับยั้งการเข้ามาซื้อกิจการในประเทศของบริษัทต่างชาติด้วยเหตุผลของความมั่นคง ที่ผ่านมา ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวในการปฏิเสธการลงทุนของจีนในการเข้ามาซื้อกิจการ เช่น ในกรณีที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศจีน CNOOCต้องการเข้ามาซื้อ Unocal ในปี ค.ศ. 2005 เป็นต้น

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มีการกำหนดสาขาธุรกิจที่จำกัดหุ้นส่วนคนต่างด้าวที่ชัดเจนไม่มีการกำหนดประเภทของธุรกิจแบบ “เหวี่ยงแห” แบบเรา รวมทั้งมีระบบในการทบทวนรายชื่อธุรกิจที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หากประเทศไทยต้องการที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ปลดล็อก” ข้อจำกัดในการลงทุนของคนต่างด้าวในภาคบริการแบบเหมาเข่งที่มีอยู่ โดยปรับบัญชี 3 ประเภทของธุรกิจ ที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ (บัญชีแนบท้าย 3ของ พ.ร.บ.) โดยมี ขั้นตอนในการดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป 4 ขั้นตอน คือ

  1. ปลดรายการที่ปรากฏใน บัญชี 3(21) ที่ระบุให้ “บริการอื่นๆ” เป็นธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งจะทำให้กลายเป็น negative list ที่ระบุชื่อสาขาบริการที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน โดยกำหนด ระยะเวลาในการบังคับใช้หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายประมาณ 1 ปี
  2. ในช่วงเวลา 1 ปีก่อนที่จะปลดข้อจำกัดการลงทุนในภาคบริการ ให้มีการ ประกาศให้ธุรกิจบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากต่างประเทศ เข้ามายื่นเหตุผลและความจำเป็นที่ยังต้องการความคุ้มครอง ต่อไปแก่คณะกรรมการการประกอบกิจการของคนต่างด้าวเพื่อให้รายชื่อธุรกิจที่อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันจากต่างชาติครบถ้วน
  3. เพิ่มกระบวนการทบทวนความเหมาะสมของรายชื่อธุรกิจเหล่านั้น โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินผลประโยชน์และต้นทุนต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณชน
  4. เมื่อกระบวนการทบทวนความเหมาะสมของสาขาธุรกิจที่ควรได้รับการคุ้มครองจบสิ้นลงแล้ว จึงจะเริ่มการปรับปรุงนิยามของบริษัทต่างด้าวให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยอาจเพิ่มตัวแปรที่ใช้ในการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

ขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้การกำกับควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าว มีความกระชับและยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะสามารถกำหนดสาขาธุรกิจบริการที่ต้องการเปิดหรือปิดได้ตามนโยบายการดึงดูดการลงทุนต่างชาติของรัฐบาลและตามความต้องการของเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจที่เราไม่ต้องการทุนต่างด้าว เช่นธุรกิจที่เกี่ยวกับการพนัน ธุรกิจบันเทิงที่ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี ฯลฯหรือ ธุรกิจที่เรายังไม่พร้อมแข่งขัน (ซึ่งควรมีกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองที่ชัดเจน) เราก็จะสามารถกำกับควบคุมได้อย่างรัดกุมเมื่อมีการปรับบัญชี 3 เรียบร้อยแล้ว จึงควรที่จะพิจารณา ปรับปรุง นิยามของคนต่างด้าวให้รัดกุมมากขึ้น โดยพิจารณาสัญชาติจากตัวแปรอื่น ๆ ด้วย เช่นการถือหนุ้ ทางออ้อมผ่านบริษัท โฮลดิ้ง การถือหุ้นที่มีสิทธิ ออกเสียง สัญชาติของผู้มีอำนาจในการลงนามผูกพันนิติบุคคล เป็นต้น

สุดท้าย เราควรตระหนักว่า กฎหมายการลงทุนที่ดี คือกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจจริง และ มีความชัดเจนและตรงไปตรงมา มิใช่กฎหมายที่เขียนมาเมื่อ 45 ปีก่อน ซึ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจต้องแอบแฝงในร่างของธุรกิจสัญชาติไทย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย