สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ก.พ. 65

+ ทุกภาคมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
เฝ้าระวังภาคใต้ฝนตกหนักและลมแรง บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เนื่องจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมบริเวณภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (154 มม.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (122 มม.) และจ.ตรัง (89 มม.)
+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 32,124 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดใหญ่ 25,819 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
+ กอนช. ติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานวางมาตรการล่วงหน้ารับมือน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 14-18 ก.พ. 65 สอดคล้องกับประกาศของ กอนช. อย่างรัดกุมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยพิจารณาแนวทางเพื่อรับมือ ดังนี้
 เพิ่มการระบายจากเขื่อนภูมิพล ตั้งแต่ช่วงวันที่ 2 – 5 ก.พ. 65 ในอัตราเฉลี่ยวันละ 24 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราเฉลี่ย 85 ลบ.ม.ต่อวินาที
 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำ ในอัตราเฉลี่ยวันละ 5.18 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 65 หลังจากนั้นจะทยอยปรับลดการระบายลงเหลืออัตราเฉลี่ยวันละ 4.32 ล้าน ลบ.ม.
 ควบคุมระดับเหนือเขื่อนพระรามหก ให้อยู่ในเกณฑ์ และปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำอยู่ในอัตราเฉลี่ย 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจะทยอยปรับลดการระบายลงเหลืออัตราเฉลี่ย 20 ลบ.ม.ต่อวินาที
 พิจารณาผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง-เจ้าพระยา โดยการระบายน้ำผ่านทาง ประตูระบายน้ำ (ปตร.) สิงหนาท 2 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 12 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมควบคุมปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระรามหก และปตร.สิงหนาท 2 รวมกันที่บริเวณอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 100 – 120 ลบ.ม.ต่อวินาที
คาดว่าจากแผนการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำข้างต้น จะส่งผลให้ปริมาณน้ำทั้งหมดไหลมาบรรจบเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 14 – 18 ก.พ. 65