ส.ป.ก. ร่วมเสวนาการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางของ คทช. ในวันครบรอบ ๑ ปี สถาปนา สคทช.

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้รับมอบหมายจาก ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ให้เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางของ คทช.” ซึ่งจัดขึ้นภายในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทยและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ภารกิจของ สคทช. เนื่องในวันครบรอบ ๑ ปีการสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สคทช., ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้, ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน, ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์, ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ส.ป.ก. และผู้แทนจากสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ซึ่งดำเนินรายการโดย คุณกิตติ สิงหาปัด ณ ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอน บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำหรับการเสวนาดังกล่าวเป็นการพูดคุยกันเกี่ยวกับนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งได้ยกตัวอย่างพื้นที่ คทช. จากสองหน่วยงาน คือ พื้นที่ คทช. ในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่ คทช. ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ซึ่ง สคทช. ได้พูดถึงความสำคัญของการเร่งดำเนินการปรับเส้นแนวเขตของแต่ละหน่วยงานให้ตรงกันตามนโยบายการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ONE MAP ในแผนที่มาตราส่วน ๑:๔๐๐๐ เพื่อให้เกิดการใช้งานที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความเป็นจริง โดยอีกสิ่งที่ สคทช. ได้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองในเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งหน่วยงานได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการดำเนินการ อาทิ การอ่านแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง เพื่อตรวจสอบการเข้าทำประโยชน์ในอดีต

ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้ระบุถึงแนวทางการพิจารณาการจัดที่ดินทำกินให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ในการจำแนกกลุ่มในการดำเนินการพิจารณาการจัดที่ดิน คทช. ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในการอยู่ร่วมกับป่า แก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อทำกิน ในส่วนของกรมที่ดิน ได้มีการดำเนินการตอบสนองความต้องการที่ดินทำกินของประชาชนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ด้วยการเร่งพิสูจน์สิทธิ์ตามขั้นตอน ซึ่งหากพิสูจน์แล้วพบว่าไม่ใช่ที่ดินรัฐหรือเอกชนก็จะออกหนังสือสำคัญให้ แต่หากเป็นที่ดินของรัฐ ก็จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เก็บไว้เป็นฐานข้อมูล และนำผู้ไร้ที่ดินทำกินนั้นเข้าสู่กระบวนการ คทช. ผ่าน คทช. จังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน

ในส่วนของ ส.ป.ก. นั้นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ สำหรับที่ดินที่จัดให้กับเกษตรกรผ่านกระบวนการ คทช. ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นจะจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในรูปแบบของแปลงรวม แปลงใหญ่ โดยใช้ที่ดินจากผู้ที่ผิดเงื่อนไขการเข้าทำประโยชน์ และพื้นที่ยึดคืนอื่น ๆ ที่ส่งมอบให้กับ ส.ป.ก. ผ่านกลไกของ คทช. ในการจัดเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ ส.ป.ก. และตรงกับเงื่อนไขของ คทช. จังหวัดได้กำหนด ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาการซื้อขายเปลี่ยนมือหนังสือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ได้เนื่องจากเป็นการให้สิทธิ์ในการเข้าทำประโยชน์ผ่านสหกรณ์การเกษตรหรือสถาบันเกษตรกร ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและดูแลสิทธิ์ของตนเอง โดยกรรมสิทธิ์ยังเป็นของ ส.ป.ก. สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยการกระจายสิทธิทำกินให้กับเกษตรกรได้เป็นจำนวนมากในพื้นที่ คทช. และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับปรุงพื้นที่แนวเขตที่ดินของรัฐ One Map เพื่อแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ประกาศเขตของ ส.ป.ก. และพื้นที่แนวป่าของกรมป่าไม้ ทำให้จัดการสิทธิของเกษตรกรที่ทำกินอยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างชัดเจนตามแนวทางของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

รวมถึงในพื้นที่ คทช. ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรีระบุว่าส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำให้พื้นที่ คทช. ประสบความสำเร็จนั้นเกิดมากจากการพัฒนาที่เกิดจากการวางแผน ทั้งด้านของเกษตรกรเอง และด้านของสภาพพื้นที่ โดยพื้นที่นั้นสามารถพัฒนาได้ตามสภาพปัจจัยพื้นฐาน แต่คนนั้นต้องเกิดจากภาวะของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องมีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาให้ชุมชนของตนเกิดการพัฒนา

ในด้านของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกของ คทช. ทั้งในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน กรมป่าไม้ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และส่งเสริมการรวมกลุ่ม ภายใต้แผนการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ โดยใช้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ซึ่งโมเดลที่ประสบความสำเร็จก็คือสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า ๗๐๐ ครอบครัว เน้นการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามฤดูกาล และปลูกตามแผนการผลิตซึ่งมาจากการติดต่อกับแหล่งรับซื้อตามหลักการของตลาดนำการผลิต และทำให้สมาชิกเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม ให้เป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่