กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้านำโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบองค์รวม พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มุ่งสู่ภูมิภาค ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตเกษตรกรเชิงพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คัดเลือกพื้นที่นำร่องและกลุ่มสินค้าเป้าหมายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี ลำปาง ขอนแก่น จันทบุรี และพัทลุง โดยครอบคลุมสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อดำเนินการตามแผนงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ตั้งเป้าผลักดันจังหวัดราชบุรี สู่ 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง” เน้นการทำงานเชิงพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับผลผลิตทางเกษตร BCG Value Chain เพื่อความยั่งยืนของภาคการเกษตร และบูรณาการแนวคิดและการดำเนินงานของทุกภาคส่วน (เกษตรกร ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ เอกชน และผู้บริโภค)
พร้อมอุดช่องว่างการพัฒนาด้วยผลงานวิจัย สร้างสรรค์สินค้าเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับกรอบการดําเนินงานภาคการเกษตร ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต” สนับสนุนให้เกิดการยกระดับเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นโมเดลการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ เชื่อมโยง B C และ G ในการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่มุ่งขยายผลสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ และเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” พัฒนาภาคการเกษตรไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานด้านการวิจัยของสินค้ามะพร้าวน้ำหอม อ้อย สุกร โคนม กุ้งก้ามกราม และพืชผักสินค้าเกษตรปลอดภัย ที่กำหนดให้มีความครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ รวมทั้งการนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดเพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพื้นที่ เร่งเดินหน้าปฏิบัติงานตามนโยบาย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง หน่วยงานในระดับพื้นที่ และภาคีเครือข่ายด้านการวิจัย มุ่งต่อยอดงานวิจัยตอบโจทย์ BCG ของจังหวัดราชบุรี ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านพันธุ์ตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ระบบบริหารจัดการฟาร์มที่เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน การแปรรูป ระบบโลจิสติกส์ และการตลาดสินค้าเกษตรของจังหวัดราชบุรี ภายใต้กรอบ BCG Model รวมทั้งประเด็นเร่งด่วนในเรื่องการแก้ปัญหาและบริหารจัดการโรคระบาดรูปแบบ Sandbox ในพื้นที่
พร้อมกันนี้ สวก. ได้นำผลงานวิจัย “การบริหารจัดการน้ำระดับแปลงเกษตรกรด้วยระบบน้ำหยดสำหรับอ้อย” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบการให้น้ำและปุ๋ยในระบบน้ำสำหรับการปลูกอ้อย ผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัยดังกล่าว สามารถเพิ่มผลผลิตและผลตอบแทนในการปลูกอ้อย เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีดั้งเดิม (อาศัยน้ำฝน) ช่วยให้ดินมีความชื้นเหมาะสม ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งหรือภาวะฝนทิ้งช่วง ผลผลิตเฉลี่ย 20.7 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้น 1.43 เท่า และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.44 เท่า มาปรับใช้ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยจัดทำแปลงเรียนรู้ขยายผลเทคโนโลยีให้เกษตรกรต้นแบบในอำเภอจอมบึง มีการให้คำแนะนำและติดตามอย่างใกล้ชิด สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกอ้อยด้วยเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำระดับแปลงเกษตรกรด้วยระบบน้ำหยดให้แก่เกษตรกรรายอื่น พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและบุคลากรของจังหวัดราชบุรี มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน ในอนาคต โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยในพื้นที่ได้อย่างน้อย 1.5 เท่า สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หากขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดของจังหวัดราชบุรี 152,186 ไร่ จะสามารถเพิ่มรายได้กว่าปีละ 300 ล้านบาท