สดช. แถลงข่าวประชาสัมพันธ์การรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เป็นประธานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของหน่วยงาน ภาครัฐ โครงการบริหารจัดการและติดตามผลการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ ณ ห้องประชุม ONDE-1 ชั้น 9 โดยการแถลงข่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการรับรองหลักสูตรด้านดิจิทัล โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับที่ปรึกษา ได้ดำเนินการจัดทำโครงการบริหารจัดการและติดตามผลการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของหน่วยงาน ภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สดช. รับผิดชอบดำเนินการรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในข้าราชการและบุคลากรของรัฐ 6 กลุ่ม

ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการกอง ผู้ทำงานนโยบายและวิชาการ ผู้ทำงานด้านบริการ ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี และผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ และให้เร่งกำหนดมาตรฐานของหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการ และบุคลากรของรัฐในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่าง เป็นระบบ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในสาขาที่เกี่ยวข้อง การประชาสัมพันธ์ครั้งนี้ มุ่งไปที่การเชิญชวนสถาบันอบรมต่าง ๆ หรือผู้พัฒนาหลักสูตรที่มีเนื้อหาด้านดิจิทัล เข้ามาขอยื่นรับรองหลักสูตรฯ กับ สดช. โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 100 หลักสูตรสำหรับการดำเนินงานภายในปี 2565 ประกอบกับการเชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเข้าร่วมสมัครเป็นผู้อ่านและประเมินหลักสูตรฯ ของ สดช.

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการที่จะเกิดขึ้น จะช่วยให้เกิดระบบการรับรองหลักสูตร และฐานข้อมูล หลักสูตรด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่หน่วยงานภาครัฐจะสามารถเข้ามาสืบค้น และพิจารณาก่อนวางแผนการพัฒนาให้กับข้าราชการและบุคลากร ให้ได้รับการอบรม พัฒนาทักษะ และสมรรถนะดิจิทัลที่เหมาะสม ได้รับมาตรฐาน และการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ อันจะทำให้สามารถนำทักษะ และสมรรถนะที่ได้รับการพัฒนานั้นไปใช้กับการปฏิบัติราชการ และการให้บริการแก่ทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ขณะเดียวกัน หน่วยงานผู้พัฒนาหลักสูตร และจัดการศึกษาจะสามารถมาขึ้นทะเบียน และขอรับรองหลักสูตรผ่าน ระบบการรับรองหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น และผู้ทรงคุณวุฒิจะสามารถใช้ทำการประเมิน และรับรองหลักสูตรได้อย่าง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ