ส.ป.ก. ประชุมติดตามงานไตรมาส ๑ – ๒ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัด

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดการประชุมการติดตามผลการดำเนินงานไตรมาสที่ ๑ – ๒ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ณ ห้องประชุมโรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู โดยมี ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมด้วย นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เป็นประธานในการประชุม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) พร้อมทั้งผู้ตรวจราชการกรม ส.ป.ก., ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์, ผู้เชี่ยวชาญฯ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ในการประชุมครั้งนี้ ดร.วิณะโรจน์ เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้มอบแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดในส่วนของการปฏิบัติงานในการให้บริการเกษตรกรให้มีความตรงไปตรงมา ถูกต้อง โปร่งใส เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ต่อมา นายสุริยน รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้มอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน ทั้งในด้านของเส้นวงรอบชุมชน การปรับปรุงเส้นแนวเขตให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงการรวบรวมบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาให้ชัดเจน ให้ ส.ป.ก. จังหวัดมีเครื่องมือในการปฏิบัติงานด้วยความสะดวกมากขึ้น ทั้งในส่วนของภารกิจหลักในการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร และพื้นที่ คทช.ในเขตปฏิรูปที่ดิน

จากนั้น นางสาวฆนีรส โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ได้สรุปผลการดำเนินงานส่วนของงบประมาณในภาพรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอุกฤษฎ์ อินทาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและแผนงาน ดำเนินกิจกรรมให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง ๒๐ จังหวัด รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ ๑ – ๒ รายจังหวัด แด่ผู้บริหารระดับสูงของ ส.ป.ก. รับฟังเพื่อรับทราบถึงการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ในการรวบรวมและให้ส่วนกลางดำเนินการจัดทำแนวทางและสนับสนุนการทำงานของส่วนภูมิภาค

สำหรับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินทั้ง ๒๐ จังหวัด ประกอบไปด้วย จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.นครพนม จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.มหาสารคาม จ.มุกดาหาร จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.เลย จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.สุรินทร์ จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู จ.อำนาจเจริญ จ.อุดรธานี จ.อุบลราชธานี และ จ.บึงกาฬ