‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ สร้างสมดุลอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมตอบโจทย์พัฒนาเศรษฐกิจ

การทำเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยมีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการแร่และใช้ประโยชน์จากแร่ให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า แร่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายการพัฒนาประเทศ เช่น หินปูนสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือแร่หายากสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น  กพร. จึงมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้แร่ มีความเพียงพอต่อการใช้งาน รวมทั้งกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ให้ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ มีจรรยาบรรณและใช้หลักธรรมาภิบาลในการประกอบกิจการ และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่มีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน สามารถสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวทาง Bio-Circular-Green Economy (BCG)

“เหมืองแร่เพื่อชุมชน” เป็นนโยบายสำคัญของ กพร. โดยดำเนินการตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการทำเหมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการสร้างงานสร้างอาชีพ ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพของประชาชน เหมืองแร่เพื่อชุมชนนั้น ครอบคลุมทั้งด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ด้านการกำจัด-ลด-ป้องกัน-แก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน ด้านการปรับปรุงพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพของเหมือง ด้านการดำเนินงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้  และด้านการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า  โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เติบโตอยู่คู่กับชุมชนสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อธิบดีนิรันดร์ฯ เน้นย้ำว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งสถาบันการศึกษา  องค์กรวิชาชีพ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ล้วนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้เป็นเหมืองแร่เพื่อชุมชน โดยเข้ามาช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน ดูแลผู้ประกอบกิจการด้วยกันเองให้ยกระดับมาตรฐานการทำเหมืองให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำเหมือง การศึกษาดูงานแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการทำเหมืองในด้านต่างๆ รวมทั้งสถาบัน การศึกษาก็ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการทำเหมืองที่พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตามทิศทางของโลก เพื่อให้บุคลากรที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีความรู้ความเข้าใจ และช่วยกันดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้อยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป”