+ ภาคเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็น ภาคกลางและภาคตะวันออก มีหมอกในตอนเช้า ส่วนในภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (97 มม.) จ.ยะลา (47 มม.) และ จ.ภูเก็ต (46 มม.)
+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 32,950 ล้าน ลบ.ม. (57%) ขนาดใหญ่ 26,540 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)
+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
+ กอนช. ติดตามการดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65
โดย กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2564/65 ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี วางแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามแผนบริหารความเสี่ยง ด้วยการเพิ่มศักยภาพการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา สู่คลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก พร้อมเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา ด้วยการจัดสรรน้ำแบบรอบเวรการใช้น้ำในคลองชัยนาท–ป่าสัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการลำเลียงน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าไปเติมให้กับแม่น้ำบางขาม เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ยังวางแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้
= ระยะสั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงแล้งปีนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของ การประหยัดน้ำ
= ระยะยาว กรมชลประทานได้วางแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบอาคารถาวรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เพื่อให้สามารถสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–เขื่อนภูมิพล” สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ได้ปีละประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.