รมว.ทส.และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการจัดสร้างแหล่งน้ำสำหรับช้างป่า(ท่าตะเกียบโมเดล) ฉะเชิงเทรา

วันที่ 15มี.ค.62 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง โดยมี นายอยู่เสนาธรรมผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) นายวีระพงศ์ โคระวัตรหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่บริเวณบ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นบริเวณที่ช้างป่าพักอาศัยอยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อร่วมติดตามการจัดสร้างแหล่งน้ำสำหรับช้างป่าตามโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ(ท่าตะเกียบโมเดล) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม – สียัด ซึ่งอยู่บริเวณตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันออกเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2561 โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พบว่ามีช้างป่าในพื้นที่ จำนวนประมาณ 240 ตัว มีอัตราการเกิดประมาณร้อยละ 8 ซึ่งข้อมูลทางวิชาการพบว่าพื้นที่ขสป.เขาอ่างฤๅไนยังสามารถรองรับจำนวนประชากรช้างป่าได้ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าแนวกันชนส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติได้ถูกบุกรุกครอบครองเข้าทำการเกษตร มีการพัฒนาพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยและชุมชน มีการขุดแหล่งน้ำ ปลูกพืชเกษตรทั้งไม้ผลและพืชไร่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เข้าไปหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน และมีแนวโน้มที่ช้างป่าจะอยู่ประจำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงกลายเป็นปัญหาความ ขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากมีการสูญเสียชีวิตทั้งราษฎรและช้างป่า พืชผลอาสิน ทรัพย์สิน เสียหายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยนำร่องดำเนินการในท้องที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแนวทางดังนี้
1. การจัดการตรึงช้างป่าให้อยู่กับที่หรือลดการสูญเสียของพืชไร่และทรัพย์สินของประชาชน
2. การสร้างความคุ้นเคย ความไว้ใจ และลดความดุร้ายของช้างป่า โดยให้ประชาขนที่ได้รับความเสียหายเข้ามามีส่วนร่วม
3. การปรับปรุงพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม-สียัด ให้มีแหล่งน้ำสำหรับช้างป่า และมีแปลงทุ่งหญ้า ตลอดจนแปลงพืชอาหารช้างที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับช้างป่าชั่วคราว
4. การปรับปรุงพื้นที่ในขสป.เขาอ่างฤาไน ให้มีแหล่งน้ำขนาดที่เหมาะสมสำหรับช้างป่า มีแปลงทุ่งหญ้า และแปลงพืชอาหารช้าง ตลอดจนโป่งเทียม ที่เพียงพอ
5. สร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า การปรับตัว และลดความขัดแย้ง ด้วยวิธีการตรึงช้างป่าไว้ในบริเวณที่ช้างป่าพักอาศัยอยู่ด้วยการให้อาหาร หรือชดเชยความเสียหายให้แก่ราษฎรตามความเหมาะสม

เมื่อดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม-สียัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงผลักดันช้างป่าไปยังพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม-สียัด บริเวณตอนเหนือของขสป.เขาอ่างฤาไน ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นขสป.เขาอ่างฤาไน เพื่อรอเวลาผลักดันกลับเข้าสู่ขสป.เขาอ่างฤาไน เมื่อแหล่งน้ำแหล่งอาหารภายในพื้นที่ขสป.เขาอ่างฤาไน ได้รับการปรับปรุงให้อุดมสมบูรณ์พร้อมเรียบร้อยแล้ว