กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนกลไกสนับสนุนการจัดบริการด้านเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนกลไกสนับสนุนการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน มุ่งหวังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดบริการฯ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นแนวทางในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573

วานนี้ (14 มีนาคม 2562)  ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง  กรุงเทพฯ  นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาและขับเคลื่อนร่างคู่มือมาตรฐานการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน เพื่อยุติปัญหาเอดส์สู่การปฏิบัติ โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 เช่นเดียวกับนานาประเทศ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้เหลือไม่เกินปีละ 1,000 ราย 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้เหลือไม่เกินปีละ 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาวะลง ร้อยละ 90  ด้วยหลักการของการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เคารพต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อส่วนใหญ่ยังคงสูงในกลุ่มประชากรหลัก ได้แก่ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้หญิงข้ามเพศ พนักงานบริการชาย-หญิง ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยาก มีบริบทเฉพาะ และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการป้องกันควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้านเอดส์ ได้พัฒนาร่างคู่มือมาตรฐานการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อยุติปัญหาเอดส์ขึ้น มุ่งหวังให้คู่มือมาตรฐานฉบับนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพให้องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดบริการฯ ได้อย่างมีคุณภาพ และเอื้อให้กลุ่มเป้าหมายหลักเข้าสู่บริการป้องกันและดูแลรักษาเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ภายในปี 2573

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคู่มือมาตรฐานการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อยุติปัญหาเอดส์ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนากลไกสนับสนุนการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน ที่สำคัญคือ การพัฒนากลไกด้านกฎหมาย การขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (Self-Test) ตลอดจนการพัฒนาปรับปรุงแนวทางสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรภาคประชาสังคม และยังคงมีการดำเนินงานอีกหลายส่วนที่ต้องขับเคลื่อนควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดระบบรับรอง การจัดบริการฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ต่อไป

การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ในพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1–12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม และกรมควบคุมโรค

*******************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค