“โคก หนอง นา” อ.เดชอุดม เดินหน้าสร้างการรับรู้ พร้อมก้าวสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) เชื่อมโยงเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้การอำนวยการของ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเดชอุดม นายวิริยะ เสาทอง พัฒนาการอำเภอเดชอุดม พร้อมด้วย นางสาวสุวรรณี ถาพินนา นางสาวสมจิตร สมแสวง และนางเกศสิริ มุทาพร เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเดชอุดม ร่วมกับ นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอุบลราชธานี อินดัสตรี ลงพื้นที่สัมภาษณ์ พร้อมถ่ายทำวีดิทัศน์การเชื่อมโยง “โคก หนอง นา โมเดล” สู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) เพื่อสร้างการรับรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงสู่การเป็นเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในการสร้างฐานวัตถุดิบคุณภาพปลอดสารพิษและสารเคมีสู่ผู้บริโภคทั่วโลก

ซึ่งในวันนี้ คณะฯ ได้ลงพื้นที่ ณ แปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พื้นที่ต้นแบบระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of Life : HLM) ขนาด 3 ไร่ ของนายมานพ​ พาพะหม​ บ้านโนนสวาง​ หมู่ที่ 4 ตำบลนากระ​แซง​ และแปลงขนาด 3 ไร่ บ้านสองคอน หมู่ที่ 18 ตำบลตบหู ต่อด้วย แปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) ของนางอุไรวรรณ อนุพันธ์ ขนาด 15 ไร่ พร้อมกันนี้ คณะฯ ได้เยี่ยมชมหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านสองคอน หมู่ที่ 10 ตำบลตบหู และสวนทุเรียนบ้านโพนดวน หมู่ที่ 22 ตำบลตบหู เพื่อนำไปจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของชาวอำเภอเดชอุดม ด้วย

โอกาสนี้ นายวิริยะ เสาทอง พัฒนาการอำเภอเดชอุดม ได้เปิดเผยว่า “กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการสร้างการรับรู้และการประชาสัมพันธ์ การขยายผลของโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขยายผลสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) และเชื่อมโยงเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ต่อไปในอนาคต โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้ตอบโจทย์ความปลอดภัยของผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนำไปสู่การบูรณาการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมฯ จะรับซื้อผลผลิตจากโครงการโคก หนอง นา ภายในอำเภอ จังหวัด และต่างจังหวัด เพื่อนำไปแปรรูป ส่งจำหน่ายไปทั่วโลกต่อไป”