สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ก.พ. 65

+ ภาคเหนือตอนบน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 5 ในช่วงวันที่ 5–6 กุมภาพันธ์ 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ให้จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และกำแพงเพชร มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย (64 มม.) กรุงเทพมหานคร (63 มม.) และ จ.น่าน (61 มม.)

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 33,392 ล้าน ลบ.ม. (58%) ขนาดใหญ่ 26,932 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ กอนช.คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งมั่นใจพ้นวิกฤตนาปรังเกินเป้า 6 แสนไร่ วอนงดปลูกข้าวรอบ 2

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช.ได้ติดตามผลการดำเนินงาน 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของแหล่งน้ำเก็บกักน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ 33,392 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของความจุใช้การ แม้การปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการเพาะปลูกมากกว่าแผน แต่การจัดสรรน้ำที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด

กอนช.ยังเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตรวจวัดค่าความเค็มในบริเวณคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นกัน หากค่าความเค็มสูงเกิน 0.2 g/l จะเร่งดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังการใช้น้ำทันที และจะดำเนินการผลักดันน้ำเค็มโดยใช้น้ำที่สำรองไว้ตามแผนในฤดูแล้งปีนี้ กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และบุคลากร เพื่อช่วยเหลือประชาชนหากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญทำให้ฤดูแล้งปีนี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี