นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้แทนสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือกับ นายอัตสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCC) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ในเรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยและสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย
ดร.สรรเสริญฯ เปิดเผยว่า JCC ทำรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว เป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยล่าสุด ในช่วงระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม 2564 JCC ได้สำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง บริษัทญี่ปุ่นที่ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทยจำนวน 541 บริษัท เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยสำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และการคาดการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รวมทั้งปัญหา อุปสรรค ข้อกังวลต่างๆ โดยในครั้งนี้ได้เพิ่มคำถามเกี่ยวกับประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานและการดำเนินการของภาคธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจเป็นข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อรัฐบาลในการพิจารณากำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และรองรับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ในส่วนผลการสำรวจที่สำคัญ ดร. สรรเสริญฯ ให้ข้อมูลว่า ผลการสำรวจบ่งชี้ว่า แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในช่วงปลายปี 2564 และธุรกิจระหว่างประเทศมีข้อติดขัดด้านการขนส่ง และเกิดปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปทั่วโลก แต่ภาคธุรกิจญี่ปุ่นในไทยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย และคาดว่า ในช่วงแรกของปี 2565 เศรษฐกิจของไทยจะปรับตัวดีขึ้นมาก และภาครัฐจะสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ รวมทั้งมีสัญญาณที่ดีด้วยว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ที่บริษัทที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 18 แสดงความเห็นว่า โควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัท และอีกร้อยละ 7 ยังมองว่าโควิดส่งผลดีต่อยอดขาย ขณะที่มากกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว และมองว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย จะเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ EU และตะวันออกกลางก็เป็นแหล่งส่งออกที่มีความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น
ผลการสำรวจความเห็นของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมากต่อภาครัฐของไทยในการพัฒนาและดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านการการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และ
การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการค้า การลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนนโยบายด้านการสร้างแรงงานและนวัตกรรม ที่มีคุณภาพสูงในระยะยาวต่อไป และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐของไทยกับภาคธุรกิจญี่ปุ่นก็เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาสำหรับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นทั้งนักลงทุน และคู่ค้าที่ สำคัญของไทย และไทยก็เป็นพันธมิตรทางการค้าที่ดีของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCC) ยังแสดงความขอบคุณที่รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีฟิลิปปินส์ไต่สวนการนําเข้าสินค้ายานยนต์ จากไทยตามมาตรการ Safeguard อย่างต่อเนื่องและทำให้รถยนต์จากไทยสามารถส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ได้โดยที่ ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับภาระเพิ่มเติม และ JETRO ยังได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือใหม่ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน ภายใต้กรอบ ASIA-Japan Investing for the Future Initiative (AJIF) และข้อริเริ่มด้านการลงทุนเพื่อพลังงานในอนาคต (Asia Energy Transition Initiative: AETI) โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนมาสู่ภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างการเจริญเติบโต อย่างมีนวัตกรรม ทั่วถึง และยั่งยืนในอนาคตร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดด้วย
ดร. สรรเสริญฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์มีส่วนร่วมดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจาก โควิด-19 และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากภาคเอกชนญี่ปุ่นหลายประการ เช่น มาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 การพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค) เป็นต้น
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
4 กุมภาพันธ์ 2565