กสม. ยื่น ๑๒ ข้อเสนอให้ ครม. จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับมาตรฐานประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๑ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอของ กสม. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๓) และมาตรา ๔๒ ให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และ กสม. ได้ร่วมลงนามในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐

นายวัส กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อการจัดทำแผนฯ ดังกล่าวครอบคลุมหลักการเคารพ ปกป้อง และเยียวยา อันเป็น ๓ เสาหลักพื้นฐานของ UNGPs ที่ประเทศไทยให้การรับรอง ตลอดจนข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งสิ้น ๑๒ ข้อ จำนวน ๔๙ หน้า ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและมาตรการการแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ การนำนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการเคารพและส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางกายภาพ การขนส่ง สารสนเทศการสื่อสาร และบริการอื่นๆ

ประธาน กสม. กล่าวว่า กสม. ยังได้เสนอแนะเรื่องการสร้างหลักประกันการเคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจศึกษาแนวทางในการเสริมสร้างมาตรการที่มีประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ รวมถึงการนำหลักการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืน (Sustainable Public Procurement) มาใช้ในทางปฏิบัติ การสร้างหลักการสำคัญที่จะประกันว่าการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศของไทยจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจจัดทำรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และเปิดเผยต่อสาธารณะ

นายวัส กล่าวว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนยังควรระบุถึงแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการทางปกครองที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ รวมถึงการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบหรือฟ้องคดีเพื่อสกัดกั้นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Anti-SLAPP Law) นอกจากนี้ควรระบุถึงกลไกการเยียวยานอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และการออกกฎหมายว่าด้วยการเยียวยานอกกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกลไกการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจ
ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

นายวัส กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ – ๒๕๖๐ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนจำนวน ๒,๑๙๙ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั้งที่เกิดในประเทศไทยและจากโครงการลงทุนหรือพัฒนาทั้งของรัฐและเอกชนสัญชาติไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาสิทธิแรงงาน แรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบาง ซึ่งคำร้องเรียนส่วนใหญ่มีลักษณะที่ไม่อาจดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นได้เฉพาะตัวเป็นรายกรณี

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย แนวปฏิบัติ และสภาพแวดล้อมให้ตอบสนองต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กสม. จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้รับผิดชอบ นำข้อเสนอของ กสม. ไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนฯ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังจะให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๑ เพื่อให้การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ บังเกิดผลและเกิดการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง” นายวัส กล่าวทิ้งท้าย