‘พาณิชย์’ เผยการประชุมคณะกรรมการการค้าการลงทุนของเอเปคที่ชิลีปีนี้

‘พาณิชย์’ ร่วมประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ระหว่างวันที่ 3-8 มีนาคม 2562 ณ กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี โดยชิลีเจ้าภาพเสนอแนวคิด “เชื่อมโยงประชาชนเพื่อสร้างอนาคต” เน้นสังคมดิจิทัล การบูรณาการ 4.0 สตรี SMEs และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน หวังสร้างอนาคตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใส สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เตรียมพร้อมสำหรับการจัดตั้ง FTAAP ในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment : CTI) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (Senior Officials Meeting: SOM) ครั้งที่ 1 ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้นางสาวทวินันท์ จันทนจุลกะ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยชิลีเจ้าภาพการประชุมเอเปค ประจำปีนี้ ได้เสนอแนวคิด “เชื่อมโยงประชาชนเพื่อสร้างอนาคต (Connecting People, Building the Future)” ซึ่งให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็น คือ 1) สังคมดิจิทัล 2) การบูรณาการ 4.0 3) สตรี ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) และการเติบโตที่ครอบคลุม และ 4) การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการของเอเปคที่ผ่านมาจะสอดคล้องกับแนวคิด 4 ประเด็นดังกล่าว ครอบคลุมประเด็น เช่น การพัฒนาการค้าดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดเสรีการค้าการลงทุนและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของ MSMEs สตรี และกลุ่มเปราะบาง (ชนพื้นเมือง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส) และการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า ที่ประชุม CTI ยังได้หารือเรื่องความท้าทายของระบบการค้าพหุภาคีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่สมาชิกเอเปคให้ความสำคัญ โดยสมาชิกส่วนใหญ่ได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์การค้าของ WTO และเห็นว่าเอเปคไม่ใช่เวทีเหมาะสมที่จะหารือเรื่องการปฏิรูป หรือปรับปรุงระบบการทำงานของ WTO แต่เอเปคควรเป็นเวทีความร่วมมือสำหรับนำเสนอแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของสมาชิก เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาของสมาชิกเอเปค รวมทั้งผลักดันการดำเนินการของสมาชิกในประเด็นสำคัญ อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใส สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ในอนาคต เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือกันในประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล การเพิ่มบทบาทของ MSMEs และสตรี เพื่อเข้าสู่ตลาดโลก ความเชื่อมโยง ความร่วมมือกับภาคเอกชน เป็นต้น

ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์  ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยปี 2561 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 347,265 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 69.2 ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไปยังเอเปค 175,852 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.6 ของการส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากเอเปค 171,413 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.8 ของการนำเข้ารวมของไทย

——————————

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์