สมศักดิ์ สั่ง กรมคุ้มครองสิทธิฯ ทำงานเชิงรุกเร่งเยียวยาทายาทผู้เสียชีวิตจากเหยื่อคดีอาญา เคสเจ้าของบริษัทรถทัวร์ในจ.ภูเก็ตยิงคนขับรถรับจ้างดับ

สมศักดิ์ สั่ง กรมคุ้มครองสิทธิฯ ทำงานเชิงรุกเร่งเยียวยาทายาทผู้เสียชีวิตจากเหยื่อคดีอาญา เคสเจ้าของบริษัทรถทัวร์ในจ.ภูเก็ตยิงคนขับรถรับจ้างดับ พร้อมแจ้งสิทธิค่าตอบแทนที่ควรจะได้รับจากรัฐ

จากกรณี นายจำปา วรรณจันทร์ อายุ 54 ปี ถูกคนร้ายซึ่งเป็นเจ้าของบริษัททัวร์รถเช่า ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. จ่อยิงที่ขมับขวา จำนวน 1 นัด และอกด้านซ้ายอีก 2 นัด จนถึงแก่ชีวิต เหตุเกิดภายในบขส.ภูเก็ตแห่งที่ 2 ม.5 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ส่วนสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวหลังผู้ตายได้ไปเป็นพยานให้การต่อตำรวจในคดีความผิดฆ่าผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 22.30 น. นั้น

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยสำนักงานคุ้มครองพยานประสานผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อแจ้งสิทธิพยานในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ให้กับทายาทผู้เสียชีวิตทราบโดยเร็ว ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯได้บัญญัติรองรับสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญาไว้ 3 ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความปลอดภัย สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ

นายเรืองศักดิ์ เผยอีกว่า ส่วนกรณีพยานได้รับความเสียหายหรือเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จากการมาเป็นพยานในคดีที่ผู้ก่อเหตุยิงคู่กรณีเสียชีวิตเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (มกราคม 2564) จำนวน 2 ศพ และมาก่อเหตุซ้ำอีกนั้น สามารถยื่นคำขอรับค่าตอบแทนตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยานหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานในคดีอาญา ซึ่งสิทธิที่จะได้รับ ได้แก่ สิทธิของพยานในการได้รับค่าตอบแทนความเสียหาย ประกอบด้วย กรณีพยานเสียชีวิตจะได้ค่าตอบแทนตั้งแต่ 30,000 – 100,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 30,000 บาท และค่าอุปการะด้านการศึกษาแก่บุตร จ่ายเดือนละไม่เกิน 3,000 บาท จนกว่าจบปริญญาตรี

อย่างไรก็ตาม การจะได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนความเสียหายแก่พยานในคดีอาญาและผู้ใกล้ชิด ซึ่งจะคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นสำคัญ โดยขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนความเสียหายแก่พยานในคดีอาญาดังกล่าว