กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนอย่าชะล่าใจ แม้เป็นช่วงหน้าร้อนก็ควรระมัดระวังและป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงนี้อย่าได้ชะล่าใจ ขอให้ระมัดระวังและป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก แม้เป็นช่วงหน้าร้อนก็ตาม  หลังปีนี้พบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 5 พันราย  แนะหากมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

วันที่ (11 มีนาคม 2562) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  แม้ในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงหน้าร้อนก็ตาม  แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาจทำให้ในบางพื้นที่เกิดฝนตกได้ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย สาเหตุของโรคไข้เลือดออก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา พบว่าในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 มีนาคม 2562 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 9,044 ราย เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งปีนี้มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 5 พันราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี

โดยในปีนี้กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่อง จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งโรคไข้เลือดออกก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังตามประกาศฯ ฉบับนี้ เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ประชาชนระมัดระวังและป้องกันตนเองจากโรคดังกล่าว

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชนทั้งในส่วนของมาตรการและการป้องกันโรค หากประชาชนหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่นไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ และถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย

ทั้งนี้  ขอให้ประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*******************************************************

 ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค