จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดพิธีมอบแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ราชกัญญา

จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดพิธีมอบแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ราชกัญญา 3 ลาย ได้แก่ “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไทยเจ้าหญิง ท้องทะเลไทย และป่าแดนใต้” แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภอผ้า เพื่อนำไปขยายต่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีรับมอบแบบผ้าบาติก ลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ภายใต้โครงการสืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นสู่การพัฒนาผ้าถิ่นไทย โดยมี นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี , หัวหน้าส่วนราชการ และ ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภอผ้า เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี

ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกร ตลอดระยะเวลาได้ทรงอุทิศพระองค์ ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานับประการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไปด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปทอผ้า ผลิตผ้าได้ และพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตลอดจนเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย

อีกทั้ง ทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย ได้แก่ “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไทเจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตร งานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่ภาคใต้ตลอดมา และทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานทั้ง 3 ราย เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์

ในการนี้กรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดพิธีรับมอบให้แก่กลุ่มทอผ้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้ง 37 กลุ่ม เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประจักษ์ใจ เป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยสามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน เปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดความสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป