จุรินทร์ โชว์ส่งออกปี 64 เป็นบวก+17% เกินเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนเดือนธันวาคม สูงเป็นประวัติการณ์ส่งท้าย +24.2% เดินหน้าปี 65 ชูนโยบาย”ซอฟต์ พาวเวอร์” สร้างมูลค่านำรายได้เข้าประเทศ
วันที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 11.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงการส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2564 และทั้งปี 2564 พร้อมด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศประเทศ และนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์ โดยผ่านระบบ Zoom Conference
นายจุรินทร์ กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2564 ตัวเลขภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2564 และการคาดการณ์การส่งออกในปี 2565ตัวเลขการส่งออกเดินธันวาคม 2564เป็น +24.2% คิดเป็นมูลค่า 24,930.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (810,712 ล้านบาท)
สินค้าสำคัญ 3 หมวด ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมโดยหมวดที่หนึ่ง สินค้าเกษตร เดือนธันวาคม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 +21.1% มูลค่า 72,513 ล้านบาท ตัวเลขที่น่าสนใจ เช่น มังคุดสด ขยายตัว 871.4% ทุเรียนสดขยายตัว 254.9% มะม่วงสดขยายตัว 70.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 48.1% ยางพาราขยายตัว 22.7%
หมวดที่สอง สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 +24.1% มีมูลค่า 55,735 ล้านบาทที่สำคัญเช่น น้ำตาลทราย +123.9% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้แห้ง กระป๋องและแปรรูป +24.5% และอาหารสัตว์เลี้ยง +35.4%
และหมวดที่สาม สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 +24.0% คิดเป็น 653,336 ล้านบาท สินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง +45.0% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน+34% อัญมณีและเครื่องประดับ +29.3% คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ +28.6% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ +28.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ +25.8%
ในเดือนธันวาคม ตลาดที่ขยายตัวในระดับสูง เช่น ทวีปออสเตรเลีย +54.4% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS +45.8% สหรัฐฯ +36.5% ลาตินอเมริกา +36.5% อาเซียน +35% และทวีปแอฟริกา +34.1% ตะวันออกกลางที่เป็นเป้าหมายต่อไปในอนาคต +29.5% เป็นต้น
สำหรับภาพรวมปี 64 ทั้งปีเป็นบวกเกินเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% เป็นบวกถึง 17.1% เกินกว่าการคาดการณ์ในช่วงหลังที่ตั้งไว้ที่ 15-16% มูลค่า 271,173.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 8,542,103 ล้านบาท สินค้ากลุ่มสำคัญ ได้แก่สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม
สำหรับสินค้าเกษตรปี 64 เป็นบวกรวม 23.5% คิดเป็น 819,831 ล้านบาทสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง เช่น ทุเรียน +68.4% ทำเงินเข้าประเทศ 109,206 ล้านบาท ยางพารา +58.6% ทำเงินเข้าประเทศ 175,978 ล้านบาท มะม่วงสด 51.9% นำเงินเข้าประเทศ 2,935 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง +46.7% นำเงินเข้าประเทศ 123,357 ล้านบาท และมังคุดเป็นดาวรุ่ง +15.0% นำเงินเข้าประเทศ 17,090 ล้านบาท
หมวดที่สอง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร +6.7% นำเงินเข้าประเทศ 607,228 ล้านบาท สินค้าสำคัญ เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้แห้ง กระป๋องและแปรรูป +38.5% นำเงินเข้าประเทศ 250,162 ล้านบาท อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นดาวรุ่งมาตลอดตั้งแต่ปี 63-64 + 23.2% ทำเงินเข้าประเทศ 77,808 ล้านบาท
หมวดที่สาม สินค้าอุตสาหกรรม +16.0% มูลค่า 6,790,161 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน +48.5% ทำเงินเข้าประเทศ 962,461 ล้านบาท เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ +40.1% นำเงินเข้าประเทศ 214,342 ล้านบาท อัญมณีและเครื่องประดับ + 26.5% นำเงินเข้าประเทศ 194,706 ล้านบาท รถยนต์ อุปกรณื และส่วนประกอบ +36.2% นำเงินเข้าประเทศ 914,103 ล้านบาท เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ +23.5% ทำเงินเข้าประเทศ 203,060 ล้านบาท สุดท้ายคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ +18% ทำเงินเข้าประเทศ 695,024 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้การส่งออกปี 2564 ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
1.การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ที่ลงไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และทีมเซลล์แมนจังหวัด ทีมเซลล์แมนประเทศ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการขายของกระทรวงพาณิชย์ในรูป OBM (Online Business Matching) รวมทั้งการเร่งรัดการเจาะตลาดเมืองรองในรูป Mini-FTA และมาตรการทางการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกที่แก้ปัญหากำหนดมาตรการตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่ผลไม้ยังไม่ออกทำให้ปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสามารถลดน้อยและเดินหน้าได้
2.จากการที่ประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
3.ภาคการผลิตทั่วโลกขยายตัวใน ปี 64 ดูได้จากบัญชี PMI (Global Manufacturing PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก) ที่เกินกว่า 50 ถึง 18 เดือนต่อเนื่อง
4.ค่าเงินบาทยังไม่แข็งค่า ทำให้เราสามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดต่างประเทศได้ 5.ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งมี 2 ด้าน คือ จะทำให้ต้นทุนเราเพิ่ม แต่ก็เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
และปี 2565 ปีนี้ตั้งเป้าว่ามีความเป็นไปได้ที่ปี 2565 การส่งออกของไทยจะยังเป็นบวกต่อไป คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบวก 3 -4% โดยมีมูลค่ารวมทั้งปีคิดเป็น 270,000-282,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 9.08-9.16 ล้านล้านบาท
ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกในปี 65 ประกอบด้วย
1.การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัว
2.ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก
3.คาดว่าปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จะเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ความสมดุลได้ในช่วงกลางปีนี้ถึงปลายปี
4.การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าไอที อุปกรณ์อัจฉริยะ ที่เราเป็นผู้ส่งออกด้วย
5.คาดว่าความรุนแรงของโควิดจะลดน้อยลง ทำให้การเจรจาการค้าอุปสรรคลดลง
6.ตั้งเป้าว่าการมีผลบังคับใช้ของ RCEP ที่เริ่มต้น 1 มกราคม 2565 นี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 14 ประเทศได้มากขึ้นคล่องตัวและสะดวกขึ้น เพราะหลายตัวภาษีเป็นศูนย์ และกระทรวงพาณิชย์เตรียมการล่วงหน้าพร้อมให้บริการใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเอกสารสำคัญต่างๆที่จะนำประโยชน์จากข้อตกลง RCEP มาใช้กับผู้ส่งออกของไทย
จากนั้นผู้สื่อข่าวสอบถามว่าปีหน้าจะมีสินค้าอะไรที่เป็นดาวรุ่งและสินค้าอะไรที่ยังส่งออกไปได้ไม่ดี และจะมีแผนอย่างไรให้การส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สินค้าดาวรุ่งเป็นสินค้าตัวเดิมเพราะในปี 65 จะยังมีการส่งออกต่อเนื่องในสินค้าเกษตร ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง และสินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะที่ไทยส่งออกถุงมือยาง โตต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ก็โตต่อเนื่องน้ำตาลทราย อาหารเลี้ยงสัตว์ สินค้าอุตสาหกรรม รถยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณี คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าในกลุ่ม BCG ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะพยายามขับเคลื่อนในส่วนนี้ ทั้งอาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟสไตล์หรือเครื่องสำอางสมุนไพรน่าจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นสำหรับแผนการส่งออกของปี 65 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีกิจกรรมหลากหลาย ประมาณ 152 กิจกรรม จะบุกไปที่ตลาดที่มีศักยภาพเดิมและเปิดเพิ่มตลาดใหม่ ขยายสัดส่วนของการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลกไปตลาดที่เป็นเมืองรอง
และนายจุรินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 65 จะเน้นในการทำรายได้เข้าประเทศจาก ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ด้วยซึ่งตนสั่งการเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วเพราะเราเริ่มต้นดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลคอนเทนท์ อนิเมชั่น ภาพยนตร์และอื่นๆ ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศในระดับหนึ่ง แต่ในปี 65 จะสนับสนุนเข้มข้นจากกระทรวงพาณิชย์