ผู้ตรวจราชการ มท. เยี่ยมชม “โคก หนอง นา พช.” เมืองเหน่อ ชื่มชมความสำเร็จฝ่าวิกฤต ต้นแบบที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชนคนสุพรรณ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565 นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายสุภาพ สุขแก้ว พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี นางกิตติมา ตั้งตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการและนักวิชาการผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ นางสาวปาณี นาคะนาท ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 3 และ นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจราชการในประเด็นการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ในช่วงเช้า 09.30 น. ได้มีการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ร่วมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอบางปลาม้า ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ แปลงที่ประสบปัญหาอุทกภัย (น้ำท่วม) ขนาด 3 ไร่ ณ แปลง นายสมเกียรติ กาบแก้ว บ้านโคกโก หมู่ที่ 1 ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในประเด็นการดำเนินงานในพื้นที่ทั้งหมด ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ตลอดจนข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนักในรอบกว่า 10 ปี โดยจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรีได้ให้คำแนะนำในรายละเอียด TOR สัญญาผูกพัน และระดมความคิดเห็นแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ รวมทั้งการได้ผู้รับเหมาและช่างมาร่วมตอบข้อสงสัยในการขุด ผู้ที่มีความรู้ในด้านวิศวกรรมมาร่วมให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นในเวลา 10.30 น. ได้มีการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ แปลงที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ขนาด 3 ไร่ ณ แปลงนายไพบูลย์ น้ำค้าง บ้านลาดปลาเค้า หมู่ที่ 5 ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายปิยพงษ์ บุญส่ง นายอำเภอศรีประจันต์ นายภาณุวัฒน์ ภูฆัง พัฒนาการอำเภอศรีประจันต์ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ตลอดจนผู้นำชุมชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน โดยมีกิจกรรมการปล่อยปลา ปลูกต้นทุเรียนและมอบของที่ระลึกแก่คณะผู้ตรวจราชการฯ

ต่อมาในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. ทางคณะได้หารือข้อราชการสำคัญกับ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ในการประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง SEDZ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ตลอดจนโครงการที่เกี่ยวข้องจากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมพลายแก้ว ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี

นายสุภาพ สุขแก้ว พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของจังหวัดสุพรรณบุรีในที่ประชุมว่า “การมาตรวจเยี่ยมของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และคณะในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้เห็นความก้าวหน้า ความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ผ่านมาพื้นที่ได้ประสบปัญหาอุทกภัย (น้ำท่วม) ในรอบกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอำเภอบางปลาม้าและอำเภอสองพี่น้องมีแปลงได้รับผลกระทบ จำนวน 32 แปลง แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท่านผู้บริหารทั้งระดับจังหวัดและระดับกรมฯ ที่ช่วย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จนทำให้จังหวัดสุพรรณบุรี รอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้และเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในนามของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี ขอขอบคุณท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่มาเป็นกำลังใจพร้อมเสนอแนะ และนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

ขณะที่ นางสาวปาณี นาคะนาท ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยว่า “สำหรับการตรวจเยี่ยมจังหวัดสุพรรณบุรี ในครั้งนี้ ได้รับบัญชาจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในการทำงานของทุกท่าน โดยได้รับข้อมูลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” รวมไปถึงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง SEDZ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขับเคลื่อน วันนี้จึงได้มาพูดคุยและให้กำลังใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้มีโอกาสได้หารือข้อราชการสำคัญกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ในภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย พบว่ามีความเข้มแข็งของส่วนราชการ ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เป็นปัจจัยที่สำคัญอันจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องสื่อสารกันให้เข้าใจในรายละเอียดของโครงการ ซึ่งต้องเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนและบุคคลทั่วไป ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจในเป้าหมายโครงการฯ ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ โอกาสหน้า หากได้มาเยือนอยากเห็นความสำเร็จและรายได้ของพี่น้องประชาชนที่เพิ่มขึ้นและก่อเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชนต่อไป” ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

สำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 143 ครัวเรือน ครอบคลุม 8 อำเภอ เป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of life: HLM) ทั้งหมด มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย (น้ำท่วม) จำนวน 32 แปลง ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า จำนวน 23 แปลง อำเภอสองพี่น้อง จำนวน 9 แปลง ซึ่งคณะรัฐมนตรีฯ มีมติ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาดำเนินการถึง เดือน มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับพัฒนาการอำเภอและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอให้มีความรอบรู้ รอบคอบในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง วางแผนการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา ให้เหมาะสมและสอดรับกับสภาพอากาศซึ่งมีฝนตกชุกหลายพื้นที่ รวมทั้งประสานขอความร่วมมือจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ในการขอรับการสนับสนุนผู้ควบคุมงานฝ่ายผู้รับจ้างหรือวิศวกรโยธามีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

ขณะนี้จังหวัดได้แจ้งกรมการพัฒนาชุมชนทราบเรื่องเพื่อขอขยายเวลาการดำเนินกิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน และ กิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภคครัวเรือน และเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน ; กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบเรียบร้อยแล้ว โดยจะดำเนินการติดตามผลในพื้นที่แปลงที่เหลือ ให้แล้วเสร็จทันห้วงเวลาที่ได้รับอนุมัติต่อไป