นายกเยี่ยมชมนิทรรศการ “กศน.ปักหมุด สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส”

 พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมนิทรรศการ “กศน.ปักหมุด สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส” โดยมี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์    อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. ร่วมนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของนิทรรศการ กศน.ปักหมุด เนื่องในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา  “พาน้องกลับมาเรียน” ณ หอประชุมคุรุสภา

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ร่วมให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติมาเป็น ประธานพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สช. สอศ. กศน. กับพันธมิตร 12 หน่วยงาน ณ หอประชุมคุรุสภา ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

“กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีทั้งสามท่าน เล็งเห็นถึงปัญหานักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยในปี 2564 มีจำนวนนักเรียนหลุดจากระบบมากถึง 238,707 คน ในจำนวนนี้อยู่ในสังกัด สป. จำนวน 50,592 คน และเป็นผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. จำนวน 54,513 คน ซึ่งมีผู้พิการในวัยเรียนจาก พม.เข้าสู่ระบบการศึกษาของสำนักงาน กศน.จำนวน 47,340 คน โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา สำนักงาน กศน.ได้นำระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ปักหมุด ติดตามการศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษ” มาดำเนินงานนำร่องใน 24 จังหวัด ผ่านกลไกการสำรวจและปักหมุด พร้อมให้การช่วยเหลือ ส่งต่อ และติดตามประเมินผล จนสามารถตามผู้พิการในวัยเรียนกลับเข้าสู่ระบบได้ 14,187 คน และจะร่วมดำเนินการในโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อนำผู้พิการในวัยเรียนที่เหลือกลับเข้าสู่ระบบอีก 33,153 คน รวมทั้งผู้เรียนในสังกัด สป.ที่หลุดออกจากระบบ ทั้งในส่วนของ กศน.อีก 11,404 คน และในส่วนของ สช. อีก 20,788 คน ด้วย โดยหวังว่าโครงการความร่วมมือระหว่าง ศธ.กับพันธมิตรทั้ง 12 หน่วยงาน ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมพลังการทำงาน ที่ช่วยสร้างความเท่าเทียม เติมเต็มโอกาสให้กับเด็ก เยาวชน และผู้เรียนของเรา ทั้งในการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาล “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามเป้าหมายตัวเลขเด็กหลุดระบบต้องเป็นศูนย์ ต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว