+ คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาวและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยในวันนี้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนัก บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน (45 มม.) จ.เชียงราย (42 มม.) และ จ.เชียงใหม่ (37 มม.)
+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 35,773 ล้าน ลบ.ม. (62%) ขนาดใหญ่ 28,722 ล้าน ลบ.ม. (60%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)
+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ
+ กอนช. ติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้เร่งดำเนินการ เชิงป้องกันผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งนี้ สรุปผลการดำเนินการได้ดังนี้
กรมชลประทาน ส่งเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการชลประทานผักไห่และโครงการฯ เจ้าเจ็ด-บางยี่หนเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางแห่งเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ในเขตตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำที่เคยเก็บไว้ในพื้นที่ลุมต่ำแห้งขอด ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มประสบปัญหาน้ำไม่พอสำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด 4 เครื่อง เพื่อสูบน้ำย้อนจากแม่น้ำน้อยเข้าคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนก่อนส่งเข้าระบบชลประทาน และกระจายน้ำให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีกที่บริเวณประตูน้ำผักไห่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในทุ่งผักไห่ได้เป็นอย่างมาก
สำหรับปริมาณน้ำที่สูบส่งให้เกษตรกร เป็นปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรังตามแผนที่ได้วางไว้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ไปจนถึงตันฤดูฝนปีหน้า โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ