สำนักงาน ปปง. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาคดีค้ามนุษย์ มุ่งเลื่อนระดับเป็น Tier 2 ของไทยได้ในปี 2565

วันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดการประชุมหารือเรื่อง การประสานงานระหว่างพนักงานสืบสวนสอบสวนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542    โดยพลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.)   ได้มอบหมายให้นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ ปปง. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ร่วมกับ พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจตรี กฤษดากร พลีธัญญวงค์ รองผู้บัญชาการการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารสำนักงาน ปปง. พนักงานสืบสวนสอบสวนเจ้าของคดี และพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมประชุม ณ บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักงาน ปปง. ซึ่งการประชุมดังกล่าวดำเนินการภายใต้มาตรการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข

พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากกรณีที่ประเทศไทยถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วนนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ทุกหน่วยเร่งรัดปราบปราม  การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบและใช้มาตรการยึดทรัพย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงสั่งการให้ พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ดำเนินการจับกุมปราบปรามทุกรูปแบบมาต่อเนื่อง และสืบสวนขยายผลคดีค้ามนุษย์ที่เข้าข่ายทำการฟอกเงิน 48 คดี ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ 44 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ 3 คดี และกระทรวงมหาดไทย 1 คดี มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท แต่การดำเนินการยังเป็นไปด้วยความล่าช้า เพื่อให้การยึดทรัพย์รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย ดังนั้นในวันนี้จึงนำพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีมาหารือร่วมกับสำนักงาน ปปง. เพื่อหารือแนวทางในการประสานงานในการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 3 แนวทาง คือ

1. ทรัยพ์สินโดยตรง เช่น เงินสด

2. ทรัพย์สินที่เกิดจากการแปรสภาพ เช่น บ้าน รถ

3. ทรัพย์สินที่ผสมผสาน เช่น บ้านหรือรถที่ผ่อนชำระ

ซึ่งหลังจากที่ประชุมจะมีการกำหนด Timeline การทำงานที่ชัดเจน เช่น การออกคำสั่งสืบทรัพย์ มอบหมายให้ พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบทรัพย์ ตรวจค้น แล้วรายงานผลให้ที่ประชุมรับทราบตามขั้นตอน เพื่อจะได้ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และนำทรัพย์สินมาเยียวยาเหยื่อ ผู้เสียหายต่อไป

นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ การยึดอายัดทรัพย์สินผู้กระทำความผิดภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเด็ดขาดและจริงจัง โดยเฉพาะความผิดตามมูลฐานค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ โดยได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก ทั้งนี้ จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลดังกล่าว สำนักงาน ปปง. ได้เร่งดำเนินการตามมาตรการด้านการปราบปรามและขยายผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ได้มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ จำนวน 48 คดี และสำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการประสานงานในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินการด้านการยึดและอายัดทรัพย์กับผู้ต้องหาและดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับกลุ่มผู้กระทำความผิดที่อยู่เบื้องหลัง แบบขุดราก ถอนโคน และคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ทั้งนี้ การดำเนินการในลักษณะนี้ทางสำนักงาน ปปง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะร่วมกันทำงานอย่างนี้ต่อไป เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อให้สังคมมีความสงบสุขเรียบร้อย

รองเลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสานต่อแนวทางในการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการเช่นนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ปปง. ได้ที่สายด่วน ปปง. 1710