อว. ชู นโยบาย “พัฒนาครูและนักเรียน” ยกระดับความสามารถที่แตกต่าง

นักวิจัยการศึกษา พบ รมว.อว. ร่วมหารือทางแก้การพัฒนาครูและนักเรียน ดึงความสนใจ และ ศักยภาพตามพรสวรรค์ เป็นโจทย์ตั้งต้น

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะผู้บริหารสถาบันการศึกษา องค์กรด้านการศึกษา หน่วยบริหารจัดการทุน นักวิจัย และ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เข้าพบ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อรับฟังแนวนโยบายการวิจัย ด้านการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ และ ออนไซต์

ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการวิจัยด้านการศึกษาว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ตระหนักถึงความสำคัญกับการยกระดับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในส่วนของการปฏิรูปการพัฒนาของครูและนักเรียน โดยใช้ความรู้หลากหลายสาขา หรือที่เรียกว่าสหวิทยาการ ยกตัวอย่าง กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้า บอกกับตนว่า อยากจะทำวิจัยสารเคมีในหอยทาก จากการติดกล้องขนาดเล็กไว้ที่ตัวของมัน เพื่อติดตามดูพฤติกรรมและหาคำตอบ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึงความสนใจ และความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถทำได้จริง นำไปต่อยอดแก้ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม หรือ กรณีที่  “คมสันต์ แซ่ลี” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “แฟลชกรุ๊ป” (Flash Group) “ยูนิคอร์น” รายแรกของไทย ที่สามารถสำเร็จได้ ภายในเวลาแค่ 3 ปี มีมูลค่าธุรกิจเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท นั้น มีความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาปรับเปลี่ยนวิธีการสอน สร้างเป็นแรงจูงใจกับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ ให้ปรับเปลี่ยนทัศนะ ก้าวข้ามกับดักหรือข้อจำกัดเรื่องความยากจน ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนด้วยสารตั้งต้นดังกล่าว ยังเป็นการสอนให้เด็กได้ฝึกและคิด แทนที่จะให้ผู้ใหญ่ช่วยคิดตลอดเวลา

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงแนวคิดการพลิกโฉมบทบาท อว. กับ การปฏิรูปการศึกษาว่า ปัจจุบัน อว. ได้ริเริ่มโครงการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน (Big Rock) ทั้งสิ้น 4 โครงการ คือ

1. โครงการพัฒนารูปแบบกระบวนการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เข้าเรียนครู และการพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินคุณลักษณะความเป็นครู

2. โครงการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรผลิตครูตามสาขาวิชาและบริบทพื้นที่เพื่อสร้างความเป็นเลิศ ที่โดยส่วนตัวเชื่อ และมองว่าครูแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ รมว. ที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น

3. โครงการพัฒนาระบบและกระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูและระบบการนิเทศการศึกษา และการสอนงานของครูพี่เลี้ยงในสถานศึกษา

4. โครงการพัฒนาอาจารย์ประจำหลักสูตร ทั้งในส่วนของคุณลักษณะ และ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยสามารถเข้าไปหนุนเสริมการยกระดับการศึกษาของประเทศได้ ทั้งในส่วนของงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น โครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สามารถนำมาใช้แก้วิกฤตการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมุ่งเน้นวิธีคิดแล้วปรับการบริหารใหม่ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอน และเป็นการป้องกันไม่ใช้เด็กนั้นหลุดออกจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังมี โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นที่ และ ความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่ใกล้ตัว ด้วยระบบการคิดและวิเคราะห์ ที่สามารถนำมาขยายผลและต่อยอดนำไปสู่การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ อีกทางหนึ่งด้วย