วธ. เปิดเสวนา “ถอดบทเรียนกระแสดัง สร้างความปัง…การตลาดยุคใหม่ ไม่โป๊ ไม่หยาบคาย”

 วธ. เปิดเสวนา “ถอดบทเรียนกระแสดัง สร้างความปัง…การตลาดยุคใหม่ ไม่โป๊ ไม่หยาบคาย” ให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม ใช้กลยุทธ์การตลาดอย่างสร้างสรรค์ใช้ภาษาสุภาพ-แต่งกายไม่ล่อแหลม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก เยาวชน

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายในการสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติวัฒนธรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก เยาวชนเป็นแบบอย่างที่ดี มีความประพฤติดี มีคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต มีมารยาทไทย การแต่งกาย การใช้ภาษาเหมาะสมถูกกาลเทศะ และส่งเสริมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้สื่อมีบทบาทในการปลูกฝังค่านิยม สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและวัฒนธรรมอันดีงามของคนในสังคม การส่งเสริมทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานภาคประชาชน ได้มีส่วนในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565)

ทั้งนี้ ปัจจุบันการขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมของคนรุ่นใหม่ มีการนำกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลาย มาเป็นจุดดึงดูดลูกค้าให้สามารถขายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก เช่น การแต่งตัววาบหวิว การพูดจารุนแรง ด่าทอ และการใช้คำพูดหยาบคายในการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อสร้างความนิยมและเพิ่มยอดขายสินค้าจนกระทั่งกลายเป็นภาพจำของผู้ค้าออนไลน์บางราย ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะและความสามารถในการเลือกรับสื่อเพียงพอ

กระทรวงวัฒนธรรม เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงจัดเวทีเสวนาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “ถอดบทเรียนกระแสดัง สร้างความปัง…การตลาดยุคใหม่ ไม่โป๊ ไม่หยาบคาย” ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป โดยสามารถรับฟังเสวนาได้จากการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กระทรวงวัฒนธรรม” วัตถุประสงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาด และเพื่อการส่งเสริมการขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ตระหนักถึงผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ต่อเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดจนภาพลักษณ์โดยรวมของสังคมไทย และใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ หรือแต่งกายล่อแหลมและไม่เหมาะสม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมไทย

อย่างไรก็ตาม การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจกระทรวงวัฒนธรรม  ไปยังส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มีคณะวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์ อาทิ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน นักวิชาการด้านการตลาด,นางสาวกมลทิพย์ วงษ์แก้ว ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพจ “Penloo Donut Bangsaen – โดนัทสไตล์ญี่ปุ่นเจ้าเเรกบางเเสน” และ กะฟาร์ ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เจ้าของเพจ “MakeeShop” และ “Bag byกะฟาร์”, ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ,ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้แทนสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และดำเนินการเสวนาโดย คุณทิน โชคกมลกิจ พิธีกรรายการ ถกไม่เถียงทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ อย่างไรก็ดีการเสวนาครั้งนี้ได้เชิญชวน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และเครือข่ายวัฒนธรรมจาก 76 จังหวัดทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เครือข่ายเด็กและเยาวชน และภาคประชาชน ร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ด้วย