อุบลฯ ผนึกกำลังเครือข่าย “บวร” ขยายผลการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ พร้อมหนุน “กินสบายใจ” เชื่อมโยงสู่อาหารปลอดภัยจาก “โคก หนอง นา”

วันที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 15.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนโครงการกินสบายใจ สู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2565 โดยได้รับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนมาโดยตลอดตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าสำนักงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สถาบันการศึกษาและโรงเรียน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและประชาชน เช่น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีอุบลราชธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ กลุ่ม SAVEUBON และทีมงานมูลนิธิสื่อสร้างสุข เข้าร่วมการประชุมฯ ณ แปลง iOrganic farm ” ของพรรณี เสมอภาค “โคก หนอง นา โมเดล” บ้านหนองจาน ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

สำหรับมูลนิธิสื่อสร้างสุข ได้ดำเนินโครงการกินสบายใจร่วมกับตลาดกินสบายใจ ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2565 โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ช่วยกลุ่มเปราะบาง สร้างความมั่นคงทางอาหาร รับมือในภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร การส่งเสริมการผลิต พัฒนากระบวนการรับรองมาตรฐาน PSG กินสบายใจ การพัฒนาต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม กินสบายใจช็อป เพื่อเป็นตัวกลางในการกระจายผลผลิตอินทรีย์และเชื่อมประสานบริหารจัดการระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค การพัฒาพลเมืองอาหารและชุมชนอาหารร่วมกับ 12 องค์กรอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ และ 6 พื้นที่นำร่องโรงเรียนสบายใจ รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายผู้ผลิตและเครือข่ายผู้บริโภคกินสบายใจเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการสนับสนุนการเข้าถึงอาหารของกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤต สร้างการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของประชาชน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2565

ซึ่งโครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาวะที่ดีและเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ จังหวัดอุบลราชธานี (โครงการกินสบายใจ) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ โดยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ พัฒนากระบวนการรับรองมาตรฐาน PGS กินสบายใจ การเปิดตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ และพัฒนารูปแบบการจัดซื้อผลผลิตอินทรีย์ในองค์กรร่วมกับภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ, โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี, ตลาดประชารัฐรักสามัคคี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าสุนีย์, บริษัทโตโยต้าดีเยี่ยมจำกัด โดยมีการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) “กินสบายใจช็อป” เพื่อเป็นตัวกลางในการกระจายผลผลิตอินทรีย์ และเชื่อมประสาน บริหารจัดการระหว่างเกษตรกรและองค์กร การส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ร่วมกับ 10 องค์กรอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ และ 29 โรงเรียนกินสบายใจ และมีงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคประจำปี เพื่อรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ ผลการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน

โอกาสนี้ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเสนอและแนะนำแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเขตเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs) โดยขยายผลจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทั้งส่วนราชการและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างเช่นทุกท่านในวันนี้ เพื่อช่วยเหลือและหาแนวทางในการนำผลผลิตจาก “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นผลผลิตปลอดสารพิษและอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงจัดหาตลาดให้แก่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมจำหน่ายสินค้า ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย ร่วมกับคณะทำงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ที่เดินทางมาในวันนี้ด้วย”

ด้าน นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” มากถึง 4,044 แปลง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ และได้รับความเมตตาในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว จากที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 2 ท่าน คือ พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้การขับเคลื่อนและขยายผลการงานมีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ทำให้จังหวัดอุบลราชธานี มีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจนเป็นต้นแบบในการดำเนินงานไปทั่วประเทศ โดยมีคณะทำงาน 7 ภาคี ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนโครงการฯ และกิจกรรมดังกล่าว ร่วมกับคณะทำงานเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ส่วนราชการและภาคีเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายรัฐบาล และแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ต่อไป”

ขณะที่ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตากล่าวสรุปการประชุมฯ ในครั้งนี้ว่า “การประชุมฯ ในครั้งนี้ นำโดย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแสวงหาจุดร่วม ประสานจุดต่าง ผสมงาน ประสานใจ ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยมีข้อสรุปในเบื้องต้นที่สามารถบูรณาการร่วมกันได้คือ

1)การบ่มเพาะพัฒนาบุคลากร 7 ภาคี และ เร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่

2)การต่อยอดผลผลิตเพื่อพัฒนาธุรกิจ ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model)

3)การสร้างนวัตกรรมจากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดและธุรกิจในพื้นที่

4)การสร้างการรับรู้และจดจำ สร้างการสื่อสารสังคมเชิงรุก

5)ทีมอาสาสมัครออกแบบพื้นที่ร่วมกับส่วนกลาง”