กระทรวงแรงงานจับมือธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ข้อมูลวิชาการด้านแรงงาน ประกันสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม จับมือธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงวิเคราะห์ข้อมูลวิชาการด้านแรงงาน และประกันสังคม นำไปใช้ประโยชน์ในพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ยั่งยืน

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูล ระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ณ ตำหนักวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ารัฐบาลได้มีนโยบายให้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศให้สมประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ตนในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดนโยบายบริหารการพัฒนากระทรวงแรงงาน ในการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ โดยสร้างและพัฒนาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบแรงงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทันสถานการณ์ มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมถึงใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านแรงงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจชาติ ยกระดับให้เป็นกระทรวงแรงงานดิจิตอล รองรับนโยบาย Thailand 4.0 อย่างไรก็ดีประโยชน์ที่แรงงานของประเทศจะได้รับจากการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้เป็นการสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย สำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน มีระบบจัดเก็บเงินสมทบที่มีประสิทธิภาพ และสร้างเสถียรภาพที่มั่นคงให้กับกองทุนด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน มีข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบัน ทำให้การวิเคราะห์และการพยากรณ์เชิงสถิติมีความถูกต้องแม่นยำสูง


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีความพร้อมด้านวิชาการ มีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย ที่สามารถสร้างรูปแบบจำลองและพยากรณ์ค่าสถิติด้านแรงงานเชิงลึก เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายแรงงานและพฤติกรรมของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายด้านแรงงานในการเตรียมความพร้อมรับมือการเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 และพัฒนาทักษะและนวัตกรรมของแรงงานที่จำเป็นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานประกันสังคมได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูล พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทาง Data Science มากยิ่งขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน Big Data ด้านแรงงาน เป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานไปสู่ยุคดิจิตอล และร่วมกันสร้างและวางรากฐานสังคมไทยให้เกิดความอยู่ดีมีสุข โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และตอบสนองวิสัยทัศน์ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สืบไป

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสำนักงานประกันสังคม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองและสร้างหลักประกันที่มั่นคงในการดำเนินชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ขณะนี้มีลูกจ้างผู้ประกันตนในความดูแล 14.5 ล้านคน รวมทั้งต้องบริหารกองทุนขนาดใหญ่ให้มีความมั่นคง เพื่อให้สามารถพัฒนาการจ่ายสิทธิประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ที่ได้จากการลงนามในครั้งนี้ทำให้สำนักงานประกันสังคมสามารถนำข้อมูลที่ได้รับ มากำหนดนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมจัดเก็บเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ศึกษาวิเคราะห์พลวัตรด้านแรงงานได้อย่างแม่นยำ อันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบแรงงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านแรงงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ดังนั้น เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านเศรษฐกิจแรงงาน และสนับสนุนพันธกิจของทั้ง 2 องค์กร ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน สำนักงานประกันสังคมและธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเห็นควรจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูลระหว่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการและความรู้ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้ง 2 องค์กร และขับเคลื่อนการใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ความร่วมมือในครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบแรงงานของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการวางแผน และกำหนดนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและแรงงานในอนาคต อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลด้านแรงงานมาวางแผนในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยให้เกิดความอยู่ดีมีสุขต่อไป