สกสว. จัดถก “คิดยกกำลัง” สถานการณ์ Climate Change ของประเทศไทย

SAT สิ่งแวดล้อม สกสว. จัดเสวนา “ปลดล็อคข้อจำกัดการวิจัยสิ่งแวดล้อม: เชื่อมนักคิดและนักปฏิบัติ” ประเด็นเรื่อง Climate Change เพื่อหาคำตอบ แนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม (SAT สิ่งแวดล้อม) จัดเสวนาออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom “ปลดล็อคข้อจำกัดการวิจัยสิ่งแวดล้อม: เชื่อมนักคิดและนักปฏิบัติ” ประเด็นเรื่อง Climate Change ซึ่งมี ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ประธาน SAT สิ่งแวดล้อม รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยน

โอกาสนี้ ศ.ดร. ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า สกสว. มีความมุ่งหวังสร้างพลังในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้กับการแก้ปัญหาและการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนด้าน ววน. เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศในทุกมิติ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ผ่านมาอาจมีช่องว่างของการเชื่อมต่อองค์ความรู้ หรือการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ดังนั้น การจัดงานเสวนาเรื่อง Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและช่องว่างของการเชื่อมต่อองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้จากการวิจัย เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงและแก้ไข ให้เกิดการพัฒนาที่บรรลุตามเป้าหมายการขับเคลื่อน ววน. และแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในประเด็นนี้ นายธวัชชัย แสงคำสุข ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้ความเห็นว่า หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคอร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ในปี ค.ศ. 2065 นั้น ทำให้ภาพการดำเนินงานชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขในประเด็นดังกล่าว เช่นเดียวกับภาคประชาชน ที่เริ่มมีการตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่มากขึ้น

แต่ในทางตรงกันข้าม กลับไม่มีการปรับปรุงกฎหมาย หรือมีกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง ในหลายเรื่องยังเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือ ซึ่งอาจทำให้การดำเนินการล่าช้า หรือไม่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงาน และอาจกระทบต่อเจตนารมณ์ที่ประกาศเอาไว้ อีกประการ คือ มีความต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น เครื่องจักรกลการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงงานวิจัยใหม่ และการเข้าถึงเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่าการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลไกการดำเนินการ ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และความรู้ต่างๆ

ในส่วนนี้ รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ประธาน SAT สิ่งแวดล้อม อธิบายถึงการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. ว่า ที่ผ่านมา สกสว. มีความตั้งใจที่จะประสานเครือข่าย ววน. เพื่อร่วมกันออกแบบโจทย์ และ ทิศทางการวิจัย การจัดการองค์ความรู้ในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ให้เกิดความเชื่อมโยงการใช้องค์ความรู้ และการขับเคลื่อนองค์ความรู้ ระหว่างองค์กรในทุกระดับ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยลดช่องว่างของการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาแก่ประเทศไทยอย่างแท้จริง