กระทรวงคมนาคมร่วมกันปฏิบัติงานช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเต็มกำลัง มุ่งบริการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนเดินทาง อย่างความสะดวก ปลอดภัย และห่างไกลโควิด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมประเมินผลการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้านคมนาคมขนส่งแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเข้มข้น ภายใต้แนวนโยบาย “ เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID – 19 ” ตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565 ระยะเวลารวม 7 วัน โดยสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายของแผนใน 3 มิติ ได้แก่ มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มิติอำนวยความปลอดภัยในการเดินทาง และมิติด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 แล้วนำข้อมูลมาพัฒนาระบบขนส่งให้มีความคล่องตัวและปลอดภัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นแนวทางในการจัดทำแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวครั้งต่อไป ให้เกิดประสิทธิภาพ สรุปได้ดังนี้

 การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
สถิติการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน พบว่า ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และเครื่องบิน รวมจำนวน 9.39 ล้านคน – เที่ยว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลสถิติพบว่าประชาชนทยอยเดินทางออกตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2564 และเดินทางกลับพร้อมกันในวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๕ อย่างเข้มข้น อาทิ

 จัดเตรียมการขนส่งสาธารณะทั้งรถโดยสาร เรือโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้าและเครื่องบินให้เพียงพอทั้งเที่ยวไปและกลับโดยไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง พร้อมจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและท่าอากาศยาน

 ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ในระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ

 บริหารจัดการเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่งสาธารณะ โดยเข้มงวดการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ รถโดยสารสาธารณะและรถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบ GPS โดยมีศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS เฝ้าระวังการใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจตราและดูแลพื้นที่บริเวณจุดตัดรถไฟกับถนนซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงตรวจความพร้อมการให้บริการขนส่งสาธารณะทั้งสถานี ยานพาหนะและผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่พ.ศ. 2565 ดังนี้

 การตรวจสถานีและยานพาหนะ ประกอบด้วย รถโดยสารสาธารณะจำนวน 67,343 คัน พบบกพร่อง 4 คัน สั่งให้แก้ไข/เปลี่ยนทันที ท่าเรือจำนวน 179 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง สั่งให้งดบริการ/ตรวจเรือโดยสาร จำนวน ๔,385 ลำ ไม่พบข้อบกพร่อง และ อากาศยานจำนวน ๑๔ ลำ พบข้อบกพร่อง ๑ ลำ สั่งให้แก้ไขทันที

 การตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ตรวจพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ 67,343 คน ผู้ปฏิบัติงานรถไฟจำนวน 1,655 คน พนักงานประจำเรือ จำนวน 5,674 คน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานทุกราย ไม่พบการเสพสิ่งเสพติดและไม่พบระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ

 การเกิดอุบัติเหตุในระบบขนส่งสาธารณะ ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๕ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้ รถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๓ รายและบาดเจ็บ ๒ คน รถไฟเกิดอุบัติเหตุจำนวน ๖ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๒ รายและบาดเจ็บ ๓ คน โดยไม่มีการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงเยียวยาผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการนำกรณีอุบัติเหตุสำคัญมาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และลดความสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้เหลือน้อยที่สุด

 การเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม สถิติการเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน มีประชาชนเดินทางเข้า – ออกกรุงเทพมหานครบนถนนทางหลวงสายหลัก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางด่วน รวมจำนวน 16.0๗ ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมอย่างจริงจัง อาทิ

 ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางพิเศษ ๕ เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถี กาญจนาภิเษก ศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร และทางหลวงพิเศษ ๒ เส้นทาง ได้แก่ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ – พัทยา) และหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๕ รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนที่จะเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเปิด ให้ประชาชนใช้บริการเดินทางฟรีบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ในช่วงปากช่อง – สีคิ้ว ระยะทาง ๓๕.๗๕ กิโลเมตร รองรับทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2564 พบว่ามีรถยนต์เลี่ยงไปใช้บริการสาย M6 จำนวน ๐.๒๗ ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ ๑๙ ของปริมาณรถบนถนนมิตรภาพ และรองรับทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 – 4 มกราคม 2565 พบว่ามีรถยนต์เลี่ยงไปใช้บริการสาย M6 จำนวน ๐.๓๕ ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ของปริมาณรถบนถนนมิตรภาพ

 วางแผนบริหารจัดการจราจรอย่างทันสถานการณ์เพื่อประชาชนเดินทางอย่างสะดวก โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทางและช่องทางจราจรบนถนน โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุกงดขนส่งสินค้า และห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปวิ่งบนถนน ๗ เส้นทางหลักของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งจุดบริการประชาชนและจุดพักรถ (Rest Area) และจุดตรวจบนถนนสายหลักทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน นอกจากนี้ได้ใช้ประโยชน์จากอากาศยานไร้คนขับ (Drone) บินสำรวจสภาพเส้นทางจราจรบนเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น โดยบริหารจัดการจราจรร่วมกับกล้อง CCTV ครอบคลุมพื้นที่เส้นทางสายหลักเข้า – ออกกรุงเทพฯ

 บริการข่าวสารข้อมูลการเดินทางและอุบัติเหตุในหลายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เช่น แอปพลิเคชั่นของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ และโทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงาน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานความปลอดภัยคมนาคมและหน่วยงานในสังกัด ให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลการเดินทางแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง

 บริหารจัดการเพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งดำเนินการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน โดยเน้นบังคับใช้กฎหมายและเน้นวินัยจราจรผู้ใช้ถนนอย่างเข้มงวดในเรื่องการใช้ความเร็วบนถนนตามกฎหมายกำหนด การไม่ดื่มสุราขณะขับขี่ การคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้นั่ง ลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม โดยเน้นเฝ้าระวังจุดเสี่ยง (Black spot) บนสายทาง มีการตรวจจับความเร็วและถ่ายรูปป้ายทะเบียนรถยนต์บริเวณจุดเสี่ยงด้วยกล้อง CCTV มีแผนจัดเตรียมช่องทางพิเศษ ทางเลี่ยงทางลัด และจัดทำป้ายเตือนและป้ายแนะนำ การลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ โดยการตั้งจุดบริการประชาชน ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและปลอดภัย รวมถึงเตรียมการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ อาทิ จัดเตรียมความพร้อมกับภาคีเครือข่าย สำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพและกู้ภัย

 การเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๕ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565 มีจำนวน 1,๖๕๑ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1๙๓ ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 1,๘๐๑ ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุทางถนนบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมส่วนใหญ่ยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การขับรถตัดหน้ากระชั้น และการดื่มแล้วขับ ตามลำดับ สำหรับยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และรถส่วนบุคคล/รถสาธารณะ ตามลำดับ

กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดได้ดำเนินการตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเข้มข้นจริงจังตลอด ๗ วันของช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และจัดหาระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน คุมเข้มการกำกับดูแลและปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่นี้ลดน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และไม่มีการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำและทางอากาศ อย่างไรก็ตามยังคงเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะและรถไฟ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุ จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งจากอุบัติเหตุและจาก COVID – 19 ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อให้เกิดความคล่องตัวเข้าถึงได้ ในทุกช่วงเทศกาลวันหยุดยาวรวมถึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขให้กับประชาชน

นอกจากนี้นายศักดิ์สยามฯ ได้เน้นย้ำข้อสั่งการ โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

 ให้ สนข. พิจารณาวิเคราะห์ในรายละเอียดในแต่ละจุด/พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุถึงสาเหตุ รวมถึงกรณีอุบัติเหตุใหญ่รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟ เพื่อเสนอแนวทางป้องกัน/แก้ไข เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม นำมาจัดทำเป็นมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติ และสั่งการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

 ให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงแผ่นดิน สาย 304 บริเวณเขาหินซ้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง/ปรับปรุงเส้นทางในช่วงเทศกาลจะต้องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างคืนพื้นผิวจราจร โดยรักษาจำนวนช่องจราจรไม่ให้น้อยกว่าช่องจราจรเดิม รวมทั้งติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนและไฟฟ้าส่องสว่างให้เห็นชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ