สำนักงาน ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินรายคดี นางสาวพิยดา ทองคำพันธ์ กับพวก

สำนักงาน ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินรายคดี นางสาวพิยดา ทองคำพันธ์ กับพวก ตามคำสั่ง ย. 167/2564 และ ย. 173/2564 รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ไปคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย และยึดอายัดทรัพย์สิยรายคดี นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก เพิ่มเติม รวมมูลค่าประมาณ 89 ล้านบาท

ตามที่ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 และครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวพิยดา ทองคำพันธ์ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา อันเข้าลักษณะความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542      โดยประกาศลงข้อความหรือข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อหลอกขายสินค้าโดยที่ไม่มีสินค้าอยู่จริง มีการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่มีความเป็นจริง และลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปลงทะเบียนเพื่อเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และมีเจตนาอำพรางตนโดยนำหมายเลขดังกล่าวนั้นไปรับโอนเงินที่ได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นเป็นทอดๆ  ซึ่งลูกค้าหรือผู้สั่งซื้อสินค้าจะถูกผู้ขายหรือมิจฉาชีพกำหนดให้ต้องถ่ายภาพใบหน้าคู่กับบัตรประชาชนส่งให้กับผู้ขาย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการสั่งซื้อและให้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายก่อนล่วงหน้า โดยกำหนดให้ลูกค้าชำระเงินผ่านหมายเลขบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ตามแต่ผู้ขายจะแจ้งให้ทราบ เมื่อมีการโอนเงินชำระค่าสินค้าไปแล้ว ผู้ซื้อจะไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้อีกเลย ทั้งนี้ ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 167/2564 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ลงวันที่ 8 กันยายน 2564 และคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 173/2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ ตามมาตรา 48 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และสำนักงาน ปปง. ได้เปิดรับคำร้อง    ขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 กันยายน 19 ตุลาคม 2564 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2564 นั้น

สำนักงาน ปปง. ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 และคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้สำนักงาน ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 167/2564 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ลงวันที่  8 กันยายน 2564 จำนวน 10 รายการ (เงินสด, โทรศัพท์เคลื่อนที่, ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร)   รวมมูลค่าประมาณ 7,944,474.85 บาท (เจ็ดล้านเก้าแสนสี่หมื่นสี่พันสี่ร้อยเจ็ดสิบสี่บาทแปดสิบห้าสตางค์) พร้อมดอกผล และทรัพย์สินที่ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 173/2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จำนวน 23 รายการ (รถยนต์ยี่ห้อ BMW, ตู้นิรภัย, กระเป๋า เข็มขัด และตะกร้าหวายแบรนด์เนม) รวมมูลค่าประมาณ 3,053,590 บาท (สามล้านห้าหมื่นสามพันห้าร้อยเก้าสิบบาทถ้วน) พร้อมดอกผล รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 10,998,064.85 บาท (สิบล้านเก้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหกสิบสี่บาทแปดสิบห้าสตางค์) พร้อมดอกผล คืนหรือชดใช้คืน ให้แก่ผู้เสียหาย แทนการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยเป็นผู้เสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 167/2564 จำนวน 37 ราย และผู้เสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 173/2564 จำนวน 9 ราย

 ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้สำนักงาน ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินรายคดีดังกล่าวตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 167/2564 คืนหรือชดใช้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกันตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำนวน 55 ราย  รวมจำนวนผู้เสียหายที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในรายคดีนี้ ทั้งสิ้น 101 ราย

นอกจากนี้ คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาดำเนินการกับทรัพย์สินในรายคดี นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก  ซึ่งมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความหรือความผิด  ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นโดยการโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านสื่อสาธารณะ SMS บนโทรศัพท์มือถือและสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเสนอรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ได้แก่ ลงทุนซื้อคูปองทอง ลงทุนซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว ลงทุนธุรกิจกระเป๋าแบรนด์เนม และระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ และอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนกลับไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ และภายหลังไม่สามารถติดต่อได้ โดยคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รวมทั้งสิ้นจำนวน  20 รายการ (เงินสด, ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมราคาทั้งสิ้นประมาณ 89,851,171.88 บาท (แปดสิบเก้าล้านแปดแสนห้าหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดบาทแปดสิบแปดสตางค์) พร้อมดอกผล

ทั้งนี้ ในรายคดี นายประสิทธิ์ฯ กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 พิจารณาแล้วมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 89 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง, เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ในบัญชีหลักทรัพย์) รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 130,371,449.55 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบล้านสามแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยสี่สิบเก้าสิบเก้าบาทห้าสิบห้าสตางค์) พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน  รวมจำนวนทรัพย์สินที่ยึดและอายัดในรายคดีนี้ทั้งสิ้น 109 รายการ มูลค่าทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดในรายคดีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 220,222,621.43 บาท (สองร้อยยี่สิบล้านสองแสนสองหมื่สองพันหกร้อยยี่สิบเอ็ดบาทสี่สิบสามสตางค์)

พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว รวมทั้งคดีอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด ให้เกิดความเข้มข้นและเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและและเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ  ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สามารถโทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710