สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ม.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบน อากาศเย็น ส่วนภาคใต้มีฝนน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อย บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (6 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (5 มม.) และ จ.แพร่ (4 มม.)

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 36,426 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดใหญ่ 29,283 ล้าน ลบ.ม. (61%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง อยู่ในเกณฑ์ปกติ

+ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความเป็นห่วงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว โดยเฉพาะการทำนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำปริมาณมากและใช้ระยะเวลาการปลูกค่อนข้างนาน อาจเสี่ยงกับสภาพอากาศแปรปรวนและสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงได้

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งการให้ กอนช. ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้หารือร่วมกับกรมชลประทานเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งพื้นที่ในเขตชลประทาน ทั้งการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืช การติดตามประเมินผล การวางแผนจัดสรรน้ำแบบรอบเวร การเตรียมแผนลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำสำรอง การเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมเข้าช่วยเหลือหากเกิดกรณีวิกฤติ รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยเหลือผลผลิตของเกษตรกรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ถึงแม้ว่าแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำของทั้ง 4 อ่างเก็บน้ำหลักเพียงพอตลอดทั้งฤดูแล้ง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อความไม่ประมาทที่อาจประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงนานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ อีกทั้งต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กำชับให้หน่วยงานภายใต้ กอนช. เร่งสำรวจแหล่งน้ำสำรองที่สามารถสนับสนุนน้ำได้และเร่งซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งาน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรอบคอบรัดกุม ติดตามการเพาะปลูกพืชและประเมินผลการจัดสรรน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำในกิจกรรมอื่นๆ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง