สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : กะเพรา สมุนไพรเทพเจ้า กับประโยชน์สุขภาพ โดยสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

กะเพรา เป็นสมุนไพรเทพเจ้าของอินเดีย มีฤทธิ์อุ่นพอดีไม่เผ็ดร้อนเกินไป มีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุล ทำให้ระบบต่างๆของร่างกายทนต่อสภาวะเครียดได้ ช่วงปรับระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการเผาผลาญ ระบบการย่อยอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ให้ทำงานเป็นปกติได้ ในด้านจิตใจ กะเพราทำให้ผ่อนคลาย หลับสลาย เหมาะกับทุกวัย สามารถใช้ได้ในเด็กและมีความปลอดภัยสูง

Medicinal holy basil or tulsi leaves

คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกับโควิด 19

ฤทธิ์ต้านไวรัส (Antiviral) ในการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์พบว่า กะเพรามีสารหลายชนิดที่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส SARS-CoV 2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-191

ฤทธิ์ทางระบบประสาท มีการศึกษาในหนูพบว่า กะเพราสามารถช่วยคลายความวิตกกังวลได้ โดยลดการหลั่งสารแคททีโคลามีน (Catecholamine) โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความเครียด และเพิ่มการหลั่งโดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุข สงบผ่อนคลาย ในสมองของหนู2

ฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulator) ในการทดลองทางคลินิก พบว่า สารสกัดกะเพราช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ทั้งตัวที่มาจับกินเชื้อโรคและตัวชี้ตำแหน่งของไวรัสเพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันมาจัดการ รวมทั้งเพิ่มปริมาณของสารน้ำ(แอนติบอดี้) และไซโตไคน์ชนิดที่ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะชนิดที่เรียกว่า IFN- ซึ่งมีบทบาทในการจัดการพวกไวรัส และ IL-4 ซึ่งลดการกระตุ้นการอักเสบจากภูมิแพ้3

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidation) จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดจากใบ ลำต้น และช่อดอกของกะเพรา มีสารจำพวก Phenolic เช่น Rosmarinic acid ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ4

ฤทธิ์เกี่ยวกับโรคทางเมทาบอลิก (Metabolic syndrome) กะเพรามีประโยชน์ต่อการรักษาโรคอ้วนลงพุง เนื่องจากมีการศึกษาในคนพบว่า กะเพราช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยเพิ่มการหลั่งอินซูลินทำให้มีการนำกลูโคสไปใช้เพิ่มขึ้น และยังสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมันชนิดไม่ดีได้อีกด้วย5

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Anti-inflammation) มีการศึกษาในหนูพบว่า น้ำมันหอมระเหยและกรดลิโนเลนิกในกะเพราสามารถลดการหลั่งโพรสตาแกลนดิน (PGE2) ลิวโคไตรอีน (Leukotriene) และกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acid) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้6

รูปแบบและวิธีการใช้

ทำชากะเพราโดยใช้กะเพราแห้ง 2 กรัมต่อน้ำ 1 แก้ว ชงดื่มก่อนนอน ช่วยให้หลับสบาย

คลายเครียด

ประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ

กะเพราเป็นสมุนไพรสำหรับเด็ก ช่วยย่อยแก้ปวดท้อง ขับลม ทำให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันหวัด

ปรึกษาหมอ : https://lin.ee/47PRVjiFz

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Shree, P., Mishra, P., Selvaraj, C., Singh, S. K., Chaube, R., Garg, N., & Tripathi, Y. B. (2020). Targeting COVID-19 (SARS-CoV-2) main protease through active phytochemicals of ayurvedic medicinal plants–Withania somnifera (Ashwagandha), Tinospora cordifolia (Giloy) and Ocimum sanctum (Tulsi)–a molecular docking study. Journal of Biomolecular Structure and Dynamics, 1-14.
  2. Saxena RC, Singh R, Kumar P, et al. Efficacy of an Extract of Ocimum tenuiflorum (OciBest) in the Management of General Stress: A Double-Blind, Placebo-Controlled Study. Evid Based Complementary Altern Med. 2012;894509.
  3. Mondal S., Varma S., Bamola V. D., Naik S. N., Mirdha B. R., Padhi M. M., et al (2011). Double-blinded randomized controlled trial for immunomodulatory effects of Tulsi (Ocimum sanctum Linn.) leaf extract on healthy volunteers. J Ethnopharmacol. 136(3), 452–56
  4. Hakkim, F. Lukmanul; Shankar, C. Gowri; Girija, S. (2007). Chemical Composition and Antioxidant Property of Holy Basil (Ocimum sanctum L.) Leaves, Stems, and Inflorescence and Their in vitro Callus Cultures. J Agric Food Chem. 55(22), 9109–17.
  5. Jamshidi Negar, Da Costa Cliff, Cohen Marc. Holybasil (tulsi) lowers fasting glucose and improves lipid profile in adults with metabolic disease: A meta-analysis of randomized clinical trials. J Funct Foods. 2018;45:47–57.
  6. Singh S. Comparative evaluation of anti-inflammatory potential of fixed oil of different species of Ocimum and its possible mechanism of action. Indian J Exp Biol. 1998;36(10):1028-31.