สธ. เผยผลประชุมหารือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์

สธ. เผยการดำเนินการเกี่ยวกับกัญชา  เพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ได้เอื้อนายทุนต่างชาติ และ อย. เป็นเพียงฝ่ายเลขานุการของ คกก. ควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ได้ดำเนินการ  ผลิตใด ๆ และการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

เมื่อวันที่ 4  มีนาคม 2562 ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หารือเรื่องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน โดยย้ำว่า ปัจจุบันกัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ซึ่งประเทศไทยมีการควบคุมที่สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1961 ที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งยังคงควบคุมกัญชาอยู่ภายใต้อนุสัญญาและให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมที่รัดกุมมิให้รั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากนี้ การที่ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2562 กำหนดบทเฉพาะกาล 5 ปี ให้การผลิตกัญชาทางการแพทย์ในประเทศเป็นภาครัฐดำเนินการ หรือหากเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน  ก็ต้องดำเนินการร่วมกับรัฐ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่ได้เป็นไปเพื่อนายทุนหรือต่างชาติแต่อย่างใด

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุม ยาเสพติดให้โทษได้ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตการศึกษาวิจัยและการครอบครองกัญชาให้กับหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรังสิต องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์ฝึกสุนัขตำรวจ การอนุญาตการปลูกและการใช้ประโยชน์กัญชา  ต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน

ทางด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการปลูก และการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้รั่วไหลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ได้มีหน้าที่ในการดำเนินการผลิตใด ๆ กรณีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนขออนุญาตปลูกได้ โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงาน ของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้ หากดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐด้วย ในการขออนุญาตปลูกไม่จำเป็นต้องทำโครงการศึกษาวิจัยก่อนแต่อย่างใด ตามแนวทางปฏิบัติด้านการจัดเตรียมสถานที่ปลูกที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษได้ให้ความเห็นชอบไว้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการปลูกในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น สามารถปลูกได้ทั้งการปลูกแบบภายในตัวอาคาร (indoor) ที่ควบคุมการปลูกด้วยระบบปิด และการปลูกแบบภายนอกตัวอาคาร (outdoor) ซึ่งสถานที่ปลูกเป็นแปลงปลูกกลางแจ้ง อย่างไรก็ตาม ในการปลูกจำเป็นต้องมีการควบคุมให้กัญชาที่ได้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย สามารถนำไปผลิตยาที่มีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ ไม่มีสารพิษ โลหะหนัก เชื้อรา หรือสารปนเปื้อนที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยากัญชาดังกล่าว ทั้งนี้ อย. ได้เผยแพร่แนวทางการพิจารณาอนุญาตและแนวทางการปฏิบัติสำหรับการจัดเตรียมสถานที่สำหรับผู้ขออนุญาตปลูกไว้แล้วทางเว็บไซต์ http://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/MARIJUANA62.aspx

ส่วนกรณีที่เป็นข่าวว่ามีการอนุญาตองค์การเภสัชกรรมอย่างรวดเร็วนั้น ขอชี้แจงว่า องค์การ  เภสัชกรรมได้รับอนุญาตให้ทำการศึกษาวิจัยกัญชาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ตั้งแต่ปี 2561 สำหรับการปลูก องค์การเภสัชกรรมได้เตรียมการที่จะขออนุญาตมาระยะหนึ่งแล้ว มีการจัดทำโรงเรือนในระบบปิด และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสถานที่ก่อนการยื่นคำขออนุญาต เมื่อ อย. ตรวจสอบคำขอสถานที่ และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้ว จึงได้เสนอคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเพื่อพิจารณาตามลำดับ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรมปลูกภายใต้กฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับ จึงไม่ใช่กรณีของการอนุญาตอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด

******************************