สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 ม.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบน มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (59 มม.) และ จ.พัทลุง (34 มม.)

+ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.สตูล ยะลา นราธิวาส

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 37,063 ล้าน ลบ.ม. (64%) ขนาดใหญ่ 29,828 ล้าน ลบ.ม. (62%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง เฝ้าระวังค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำแม่น้ำท่าจีน ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. นำทีมคณะทำงานไทย เข้าร่วมการอบรมทางเทคนิคแบบเข้มข้นครั้งที่ 4 เรื่อง ‘สมุดแผนที่ลุ่มน้ำ 9C-9T’ ผลักดันคลังข้อมูลสำหรับวางแผนแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยโตนเลสาบ ภายใต้โครงการร่วมบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา

โดย สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้ดำเนินโครงการร่วมบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2561 โดยการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการข้ามพรมแดน รวมทั้งเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยโตนเลสาบ 9C-9T ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำข้ามเขตแดน อยู่ในบริเวณ จ.สระแก้ว และจันทบุรี และ จ.บันทายมีชัย พระตะบอง และไพลิน ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งประสบกับปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และความเสี่ยงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการดำเนินการใน 3 ระยะ ได้แก่

1) การประเมินพื้นที่ลุ่มน้ำที่ประสบปัญหา เพื่อกำหนดแผนงาน

2) วิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ กำหนดแนวทาง มาตรการแก้ไขบรรเทาปัญหา การจัดทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำ และจัดหาแหล่งเงินทุนภายนอก

3) การพัฒนาโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

ขณะนี้เป็นการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ ได้มีการอบรมทางเทคนิคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการปรับฐานความรู้ความเข้าใจทางเทคนิค เกี่ยวกับการใช้สมุดแผนที่ลุ่มน้ำ 9C-9T รวมทั้งได้ทดลองและให้ข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาสมุดแผนที่และการดำเนินโครงการร่วมฯ ในระยะที่ 3 ต่อไป