ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามงานปรับภูมิทัศน์โครงการน้ำบาดาลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี

Featured Video Play Icon

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามงานปรับภูมิทัศน์โครงการสำรวจศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร ที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 15 โครงการจัดหาน้ำบาดาลแก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เร่งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดโครงการฯ ในปี 2565 โดยมี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้บริหารของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่ ความก้าวหน้าการดำเนินงานปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ถนนรอบโครงการ และการจัดทำแปลงเกษตรสาธิต

อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นชื่อว่าเป็น “อีสานภาคกลาง” โดยเฉพาะที่ตำบลหนองฝ้ายประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาและเป็นพื้นที่เงาฝน ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คลองธรรมชาติก็จะมีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน ไม่มีน้ำในช่วงฤดูแล้ง เมื่อฝนตกน้ำไหลผ่านไปที่ซึ่งลุ่มกว่าในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และไม่มีระบบชลประทานทำให้มีสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และน้ำสำหรับการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งปี 2562-2563 หลายหมู่บ้านในตำบลหนองฝ้ายประสบภัยแล้งรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 8 เดือน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ จำเป็นต้องจ้างรถบรรทุกน้ำเที่ยวละ 150-200 บาท ต่อน้ำ 1,000-2,000 ลิตร คิดเป็นรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 2,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นรายจ่ายในช่วงฤดูแล้งกว่า 4 ล้านบาทต่อหมู่บ้าน

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากการที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการสำรวจหาศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน โดยเน้นพื้นที่เป้าหมายส่วนใหญ่ที่เป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือไม่มีศักยภาพ จำเป็นต้องเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพน้ำมากกว่า ส่งผ่านระบบท่อกระจายน้ำระยะไกลไปให้บริการแก่พื้นที่น้ำน้อยหรือมีคุณภาพน้ำบาดาลไม่เหมาะสม โดยทุกพื้นที่ที่ดำเนินการได้มีการประชาคมร่วมกับท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ทั้ง 15 โครงการ ได้ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลและก่อสร้างหอถังเก็บน้ำขนาดใหญ่เสร็จแล้ว 6 โครงการ อยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเท่านั้น โดยในส่วนของพื้นที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำบาดาลจากบ่อผลิตมีจำนวน 8 บ่อ ความลึกเฉลี่ย 200 เมตร ให้ปริมาณน้ำเฉลี่ยรวม 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คุณภาพน้ำได้มาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคได้ มีจำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์รวม 9 หมู่บ้าน หรือเกือบ 6,000 คน และมีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 3,000 ไร่