สธ. ตั้งเป้า ปี 2565 ดันผู้สูงอายุ 1 ล้านคน เข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพในชุมชน

​กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการส่งเสริมสุขภาพและนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1 เพื่อส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในทุกระดับ ตั้งเป้าปี 2565 ผู้สูงอายุ เข้าถึงระบบการดูแลส่งเสริมสุขภาพในชุมชนแบบบูรณาการ จำนวน 1 ล้านคน

​วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การเปิดประชุมวิชาการระดับชาติด้านการส่งเสริมสุขภาพและนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการส่งเสริมสุขภาพและนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด นวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น จำนวน 66.68 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือร้อยละ 18.7 โดยแบ่งเป็นผู้สูงอายุเป็นกลุ่มติดสังคม ร้อยละ 96.69 กลุ่มติดบ้าน ร้อยละ 2.68 และกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 0.63 นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อ 199,694 ราย และเสียชีวิต 14,589 ราย ถึงแม้การได้รับวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีมากถึงร้อยละ 74.2 แต่ยังคงเพิ่มมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นในการดูแลผู้สูงอายุให้ลดอัตรา การติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลงได้ โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ดังนี้

1) ประเมินคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ผ่านแอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application) ซึ่งมีผู้สูงอายุลงทะเบียนแล้ว จำนวน 495,557 คน

2) การส่งเสริมสุขภาพกลุ่ม Active Aging ขับเคลื่อนผ่านกลไกชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุประเมินสุขภาพตนเอง และจัดทำแผนการส่งเสริมสุขภาพดี ส่งผลให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์

3) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ได้ดำเนินงานตำบล Long Term Care สร้างการรับรู้แก่ประชาชนมาตั้งแต่ปี 2559 ขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ด้วยนวัตกรรม 3C คือ มีผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) และวางแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care Plan) ร่วมกับทีมหมอครอบครัวและภาคีเครือข่าย ในระดับชุมชน

​“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุภายใต้วิถีชีวิตใหม่ทั่วประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รองรับการเปลี่ยนแปลงตลอดจนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสุขภาพที่มีความเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งเข้าถึงหรือใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมจากทีมสหวิชาชีพ หน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ทำให้รัฐบาลสามารถลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายลง ลดความแออัด ในสถานพยาบาล รวมถึงผู้สูงอายุมีทักษะในการจัดการสุขภาพตนเอง โดยในปี 2565 ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการดูแลส่งเสริมสุขภาพในชุมชนแบบบูรณาการ จำนวน 1 ล้านคน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

​ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ได้รับการดูแลและเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุขถึงที่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาทักษะบุคลากร ได้แก่ Care Manager Caregiver จิตอาสาในชุมชน ชมรมผู้สูงอายุ พระคิลานุปัฏฐาก เพื่อขับเคลื่อนดำเนินงานด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อผู้สูงอายุในทุกระดับ ซึ่งในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ 6 ประเภท ให้กับบุคคลและหน่วยงานที่ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาวระดับดีเด่น ได้แก่

1) ตำบลที่มีระบบ การส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์

2) ชมรมผู้สูงอายุ

3) ผู้สูงอายุต้นแบบสุขภาพดี ชีวีมีสุข

4) ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager)

5) ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver)

6) นวัตกรรมด้านการส่งเสริม ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้สูงอายุต้นแบบ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุด้วย

 

กรมอนามัย/ 27 ธันวาคม 2564