สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2562

ภาพรวม  ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (YoY) สูงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.27) การสูงขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว อยู่ในระดับ ที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ โดยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ย และรายได้เกษตรกร ที่ขยายตัวตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คือสินค้ากลุ่มอาหารสด  ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.64 รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคากลุ่มพลังงานติดลบน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา โดยปรับลดลงร้อยละ 0.90 จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 3.51 ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิด เช่น ผลไม้สดลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.60 (YoY)

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาที่ส่งผลให้ดัชนีติดลบน้อยลง ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงร้อยละ 0.6 (เดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ 1.1) และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ 0.3) ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเกินเกณฑ์ระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัว สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (VAT) ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายที่ขยายตัวสูงขึ้นเช่นกัน

  • สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (YoY) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาคือสินค้ากลุ่มอาหารสด ประกอบกับสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคา ขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.89 โดยเฉพาะข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 5.15 ตามราคาข้าวสารที่ปรับขึ้นและสอดคล้องกับภาวะราคาในตลาดโลก เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.50 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.06 โดยเฉพาะเนื้อสุกร และไข่ไก่ ราคาปรับสูงขึ้นจากมาตรการการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรของภาครัฐเป็นสำคัญ เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.62 อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน ร้อยละ 0.75 และ 1.84 ตามลำดับ นอกจากนี้ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.61 และผักสด สูงขึ้นร้อยละ 0.42 ขณะที่ผลไม้ ลดลงร้อยละ 1.25 ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก  ส่วนหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.58 (เครื่องแบบนักเรียนหญิง/ชาย) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.68 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.34  (ค่าแต่งผมชาย/สตรี น้ำยาระงับกลิ่นกาย แชมพู) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ร้อยละ 0.29  หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.01 ขณะที่หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ  -0.66 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.24 (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.)  ปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.60 (YoY) จากร้อยละ 1.1 ในเดือนก่อนหน้าลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ลดลงร้อยละ 1.1 ตามราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงกว่าความต้องการใช้ กลุ่มปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ปรับราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษ คำสั่งซื้อชะลอตัว

กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) ปรับตามภาวะราคาในตลาดโลก กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับลดลงก่อนจะผลิตสินค้ารุ่นใหม่ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และหัวมันสำปะหลัง) โดยความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผลไม้ (กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน ทุเรียน) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ)  เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับมาตรการการแก้ไขปัญหาราคาสุกรมีชีวิตและไข่ไก่ของภาครัฐเป็นสำคัญ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 5.2 ตามการสูงขึ้นของก๊าซธรรมชาติ และแร่เหล็ก ที่ปรับตามภาวะราคาในตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.8 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.1 (YoY) จากร้อยละ 0.3 ในเดือนก่อน  ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ลดลงร้อยละ 5.0 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว ที่ร้อยละ 4.7 (เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็ก ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ) สาเหตุสำคัญจากการแข่งขันสูง ประกอบกับการนำเข้าเหล็กทรงยาวมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.6 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียมเส้น ยางมะตอย) ในส่วนของยางมะตอย ปรับราคาตามราคาเฉลี่ยของน้ำมันปิโตรเลียม หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.5 (อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ ที่ใส่สบู่ สายน้ำดี ราวแขวนผ้าติดผนัง) เนื่องจากการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.2 (ท่อร้อยสายไฟ ท่อพีวีซี ข้อต่อ สามทาง ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี) ปรับลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) ที่ราคาลดลงตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับสินค้าสำคัญที่ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยสูงขึ้นร้อยละ 10.7, 0.6 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.)     ปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.2 (AoA)

  • สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สูงขึ้น  ร้อยละ 0.73 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 0.27 รวมทั้งการปรับขึ้นของ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคากลุ่มพลังงานติดลบน้อยลง สำหรับราคาสินค้าและบริการใน  หมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น รายได้เกษตรกร และอัตราค่าจ้างเฉลี่ยมีการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภครวมอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเชื่อมั่นเกินระดับ 50 ติดต่อกัน 2 เดือน ส่งผลดีต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการในอนาคต อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปี 2562 จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2561 ระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 ส่วนเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางรัฐบาลกำหนดไว้ในปี 2562 ที่ร้อยละ 2.5±1.5

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์