กรมอนามัย ร่วมแชร์ข้อมูลด้านยุติเอดส์และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกสู่เวทีโลก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแชร์ข้อมูลและประสบการณ์ในการดำเนินงานยุติการถ่ายทอดเชื้อ เอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกในการศึกษาดูงานแก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พร้อมวางแผนการดำเนินงานยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกปี 2563 ให้ลดต่ำกว่าร้อยละ 1

วันที่ (28 กุมภาพันธ์ 2562) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังงานแถลงความร่วมมือด้านการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก : ประสบการณ์ไทยสู่โลก ณ ห้องนราธิป กระทรวงต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา ว่า เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ผ่านการรับรองเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ต่ำกว่าร้อยละ 2 และสามารถที่รักษาคุณภาพการดำเนินงาน โดยได้รับการประกาศรับรองคุณภาพต่อเนื่องในเวทีการประชุม Global Validation Advisory Committee ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสามารถที่รักษาคุณภาพการดำเนินงาน โดยได้รับการประกาศรับรองคุณภาพต่อเนื่องในเวทีการประชุม Global Validation Advisory Committee ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าประเทศไทยจะสามารถยุติเอดส์จากแม่สู่ลูกได้ภายในปี 2573 ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติในการป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข มีแผนการดำเนินงานยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ตั้งเป้าให้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2563 ภายใต้การสนับสนุนให้สถานบริการสาธารณสุขทุกเครือข่ายทั่วประเทศ จัดบริการ ปรึกษาแบบคู่ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์และสามี (Couple counseling) ทั้งก่อนและหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวีแก่หญิงตั้งครรภ์ และสามีอย่างมีคุณภาพมากกว่า ร้อยละ 60 และเก็บผลการตรวจเป็นความลับอย่างเคร่งครัด โดยแจ้งให้ทราบเฉพาะบุคคลและผู้ที่ได้รับการตรวจหา  เชื้อเอชไอวีอนุญาตเท่านั้น สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับการรักษา ด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูง (Highly Active Antiretroviral Therapy: HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสเมื่อแรกเกิด อีกทั้งได้รับนมผสมสำหรับเลี้ยงทารก และได้รับการตรวจวินิจฉัยหา การติดเชื้อเอชไอวีตามมาตรฐานการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพและการติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ การแถลงความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขและองค์การยูนิเซฟ ด้านการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ซึ่งภายใต้การร่วมมือครั้งนี้ ทั้งสามหน่วยงานจะร่วมกันแบ่งปันความรู้ ทักษะ และประสบการณ์แก่ประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ผ่านการดำเนินงานหลากหลายรูปแบบ เช่น การฝึกอบรม การลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยสนับสนุนให้นานาประเทศสามารถยุติการแพร่เชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

*****************************************