ทส. ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวพร้อมส่งเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 04.06 น ขนาด 5.8 ระดับความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวบริเวณแขวงไชยบุรี สปป. ลาว มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และสร้างการรับรู้การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดในกลุ่มรอยเลื่อนบ้านสาลาของ สปป.ลาว ยาว 50 กิโลเมตรวางตัวแนวเหนือใต้ 50 กิโลเมตร ขนานกับรอยเลื่อนปัวที่พบในไทย ซึ่งรอยเลื่อนปัว พาดผ่านตั้งแต่ด่านห้วยโก๋น ยาวลงมาถึงตัว อำเภอเมืองน่าน และเคยเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.5 เมื่อปี พ.ศ. 2478 มาแล้ว

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมด้านแผ่นดินไหว ทั้งการปฏิบัติตัว เตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุ อย่าตื่นตระหนกแต่อย่าประมาท เนื่องจากภัยแผ่นดินไหวยังไม่สามารถเตือนได้อีกทั้งแนะนำการออกแบบบ้านเรือนที่จะลดผลกระทบ เช่น การสร้างบ้านไม้จะดีกว่าบ้านปูน และการปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว

ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดแผนเตรียมการรับมือแผ่นดินไหว ได้แก่ เร่งดำเนินการเผยแพร่ความรู้ด้านแผ่นดินไหว การเตรียมความพร้อมรับมือ การปฏิบัติติตัวขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุแก่ประชาชน ส่วนราชการ หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับแผนระยะยาว กรมทรัพยากรธรณี จะดำเนินการสำรวจ ศึกษา วิจัย ปรับปรุงข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทย เพื่อใช้ในการวางแผนเชิงพื้นที่ การออกแบบอาคาร รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือ อีกทั้งสนับสนุนข้อมูลในจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวให้มีประสิทธิภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยแล้ว ยังรอยเลื่อนมีพลังในประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อพื้นที่ประเทศไทย คือรอยเลื่อนที่อยู่ในรัศมี 150 กม. จากพรมแดนประกอบด้วย

1) รอยเลื่อนน้ำมา บริเวณเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว และเมืองทาเลย์ ประเทศเมียนมา

2) รอยเลื่อนน้ำแม่จันในส่วน บริเวณ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว

3) รอยเลื่อนเมืองหงสา บริเวณเมืองหงสา รอยเลื่อนบ้านสาลา รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู บริเวณเมืองไชยบุรี แขวงไชยบุรี สปป.ลาว

4) รอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อน Kyaukkyan รอยเลื่อน Hsuhpelaw ในประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ถึงภัยแผ่นดินไหวจะไม่สามารถล่วงรู้ล่วงหน้าได้ แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนมีพลังต้องเรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหว เพื่ออยู่ในพื้นที่เสียงภัยได้อย่างเท่าทันแผ่นดินไหว กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “องค์ความรู้ภัยแผ่นดินไหว”