2 ปี คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ: สังคมเท่าเทียมแค่ไหน

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 08.30 น. ณ ห้องบงกชรัตน์ บี โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ นางถิรวดี พุ่มนิคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการเสวนา “2 ปี คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ: สังคมเท่าเทียมแค่ไหน?” ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สค. กับ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ อินเตอร์เนชั่นแนลทรานส์ฟัน และภาคีเครือข่ายฯ จัดขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งสร้างภาคีเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการในการการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

นางถิรวดี กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติ จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนผลักดันและแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ และได้มีการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองและป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมและหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดำเนินการควบคู่กันไปทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ โดยกลไกคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการ วลพ. ที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยได้มีการออกคำสั่งเพื่อระงับ ยับยั้ง และแก้ไขการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไปแล้วหลายเรื่อง

นางถิรวดี กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะกรรมการ วลพ. ยังประสบปัญหาหลายประการทั้งจากตัวบทกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ เจตคติของสังคม รวมทั้งขาดความตระหนักรับรู้จากภาคประชาชนในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และภาคีเครือข่ายฯ จึงเห็นความสำคัญที่จะมีการทบทวนการดำเนินงานของคณะกรรมการ วลพ. เพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการรับรู้และเข้าใจกระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมการ วลพ. และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินงานของคณะกรรมการ วลพ. รวมทั้งเกิดภาคีเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสำหรับการเสวนาในวันนี้ เป็นการเสวนา เรื่อง “การนำเสนอผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ศ. มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานกรรมการ วลพ. คุณสิริวรรณ เย็นตั้ง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเลขานุการคณะกรรมการ วลพ. ที่ร่วมฉายภาพถึงความสำเร็จ และความท้าทายในการดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ คุณเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ร่วมแลกเปลี่ยนแผ่านการเสวนาเรื่อง “ข้อท้าทายกลไกคุ้มครองสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ” ซึ่งดำเนินรายการโดย ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ กรรมการ วลพ.

“จากบรรยายกาศภายในงานและการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมงานกว่า 80 คน ได้สะท้อนความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันว่า แม้จะมีกฎหมายห้ามหากเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ แต่ปรากฎการณ์การเลือกปฏิบัติก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ถูกเลือกปฏิบัติหลายคนยังไม่รู้จักกฎหมายนี้ ในขณะที่บางคนแม้จะรู้จักแต่ก็ยังไม่สามารถใช้กลไกดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับแรงเสียดทานและกดดันต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพวกเราทุกคนที่ต้องร่วมกันสื่อสารและลุกขึ้นมาส่งเสียง และไม่สยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมทางเพศ” นางถิรวดีกล่าวในตอนท้าย

********************************************