รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ เขื่อนเจ้าพระยา

วันที่ (27ก.พ.62)พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำปริมาณจำนวนมากจากต้นน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปยังด้านท้ายน้ำก่อนระบายลงสู่ทะเล และยังมีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลออกทางคลองชลประทานสายหลักที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันความสามารถในการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาและคลองชลประทานต่างๆ ระบายรวมกันได้ประมาณ 3,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งหากมีปริมาณน้ำมากเกิน จะไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่สองฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยา

กรมชลประทานจึงได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมี ประสิทธิภาพและยั่งยืน และได้นําเสนอในที่ประชุม กนช. 3 ครั้ง  และ ครม. 2 ครั้ง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนงาน บรรเทาอุทกภัยในลุมน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ซึ่งประกอบด้วย  1. ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2. คลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก 3. คลองระบายน้ำคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3  4. ปรับปรุงโครงขยายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6. การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7. คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน 9. พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง

สำหรับ โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท เป็น 1ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก โดยมีแผนการดำเนินการก่อสร้างคลองและปรับปรุงคลองเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่คือ คลองชัยนาท-ป่าสัก ร่วมกับคลองระบายป่าสัก-อ่าวไทย เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำหลากลงสู่ทะเลเร็วขึ้น

องค์ประกอบโครงการประกอบด้วย 1. คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์  เป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ความยาวประมาณ 127 กม. อัตราการส่งน้ำ 210 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่ส่งน้ำให้พื้นที่ฝั่งขวาประมาณ 800,000 ไร่ และฝั่งซ้ายอีก 100,000 ไร่  2. ขุดขยายคลองชัยนาท-ป่าสักเดิมจนถึงเขตคลองฝั่งซ้าย เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงแม่น้ำป่าสัก ในอัตราการระบายสูงสุดที่ 800 ลบ.ม./วินาที และรับน้ำข้างคลอง(side flow)ทางฝั่งซ้าย 3.คลองขนานฝั่งซ้าย ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ประมาณ 100,000 ไร่ ส่งน้ำในอัตรา 30 ลบ.ม./วินาที

ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาออกแบบคาดว่าจะก่อสร้างในปี 63-66 ซึ่งหากโครงการฯ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มการระบายน้ำของคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 130 ลบ.ม./วิ  เป็น 930 ลบ.ม./วิ  ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

**********************************************