ชุดปฏิบัติการตรวจสอบฯ กรมการจัดหางาน เข้ม kick off ลุยตรวจแรงงานต่างด้าว/สถานประกอบการ ดีเดย์ ! ทั่วประเทศ 27 ก.พ. นี้

กระทรวงแรงงาน kick off ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ 240 คน ย้ำตรวจเข้มแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย แรงงานทำงานตามสถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดชายทะเล ในสถานประกอบการและนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว ดีเดย์ทั่วประเทศ 27 กุมภาพันธ์นี้

วันที่ (27 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบนโยบายและปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ จำนวน 240 คน ณ บริเวณลานหน้าองค์พระสุทธิธรรมบพิตร กระทรวงแรงงาน โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมพิธี

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลได้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGOs แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานความมั่นคงเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) เพื่อให้แรงงานต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา เข้ามาดำเนินการจัดทำปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (VISA) และขอใบอนุญาตทำงาน มีแรงงานต่างด้าวฯ มาดำเนินการทั้งสิ้น 1,187,803 คน เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน  นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2561

เพื่อให้การขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กรมการจัดหางาน ได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานกรมการจัดหางานขึ้น มีอำนาจในการตรวจสอบปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย รวมทั้งควบคุม ตรวจสอบบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ภายหลังจากปิดศูนย์ OSS แล้ว รัฐบาลมีนโยบายไม่ขยายระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายผ่อนผัน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับแรงงานต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งกรมการจัดหางานได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดชุดปฏิบัติการฯ บูรณาการตรวจสอบ ปราบปราม และจับกุมดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายทั่วประเทศ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้นจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา มีผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561-25 กุมภาพันธ์ 2562 คือ ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 13,904 ราย/แห่ง ดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และ พรบ.คนเข้าเมือง จำนวน 906 ราย/แห่ง ปรับจำนวน 8,398,500 บาท ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว จำนวน 242,376 คน ดำเนินคดี ข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และ พรบ.คนเข้าเมือง จำนวน 5,129 คน  ผลักดันส่งกลับ จำนวน 5,012 คน  ปรับ 16,800,700 บาท  รวมค่าปรับทั้ง นายจ้างและแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 25,199,200 บาท ทั้งนี้ ในช่วงการตรวจสอบ ชุดปฏิบัติการฯ ได้จับกุมดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งเป็นงานและอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย มัคคุเทศก์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจสอบไปแล้ว 2,538 คน ดำเนินคดี 702 คน ผลักดันส่งกลับ 649 คน ปรับทั้งสิ้น 2,807,000 บาท

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฯ ตรวจสอบ ปราบปราม ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ยึดถือความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขจัดการเรียกรับผลประโยชน์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยเป้าหมายในการตรวจสอบคือ แรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย เช่น งานขายของหน้าร้าน งานมัคคุเทศก์ (ไกด์เถื่อน) งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม ดัดผมหรืองานเสริมสวย เป็นต้น แรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าวทำงานตามสถานบันเทิง ร้านคาราโอเกะ ร้านนวด และสถานประกอบการที่เข้าถึงยาก เป็นต้น แรงงานต่างด้าวตามสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดชายทะเล เช่น เกาะต่างๆ อาทิ เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะเสม็ด เป็นต้น รวมทั้งแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการและนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว

สำหรับโทษของคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้คือ ปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ขณะที่นายจ้างรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อคนงานต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หากกระทำผิดซ้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับตั้งแต่ 50,000 ถึง 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับและห้ามไม่ให้มีการจ้างคนต่างด้าวทำงานอีกเป็นเวลา 3 ปี รมว.แรงงาน กล่าว

***********************************************