สอศ.รับมอบทุนกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลิตช่างเทคนิควิศวะเคมี ปีที่12

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับมอบเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 8,500,000 บาท ประจำปีการศึกษา 2562 เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College   (V-ChEPC)  หรือ  วี-เชพ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ณ ห้องประชุม 5 สอศ. กรุงเทพมหานคร

ดร. สุเทพ  ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวีเชฟ ซึ่งจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะ สาขาปิโตรเคมี ให้เป็นคนเก่ง ทั้งด้านทักษะวิชาชีพ คุณธรรม จริยธรรม มีกระบวนการคิดและวิธีทำงานที่เป็นระบบ โดยมีรูปแบบการเรียน การสอนด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism)  ที่พัฒนาทักษะชีวิต เชื่อมโยงกับโลกการทำงาน และการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในการระดมทรัพยากร การวัดผลและประเมินผลร่วมกับสถานประกอบการ รวมถึงการสร้างเส้นทางอาชีพ มาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องถึงปัจจุบันระยะเวลา 12 ปี  ซึ่งเป็นระยะที่ 4 (พ.ศ.2560-2562) ผู้สำเร็จการศึกษามีงานรองรับทั้งหมด คิดเป็น 100 % และได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในระดับเดียวกัน

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่าในปีที่ 12 มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น บริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีได้สนับสนุนมอบทุนเพื่อสานต่อความร่วมมือโครงการ วีเชฟ ระยะที่ 4 (ปี 2560-2562) โดยมอบเงินสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนประจำปีการศึกษา 2562  รวมจำนวนทั้งสิ้น  8,500,000 บาท ดังนี้บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มอบให้ 3,500,000 บาท บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด   มอบให้ 2,000,000 บาท บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) มอบให้ 1,000,000 บาท กลุ่มบริษัท อูเบะ เคมิคอล (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) มอบให้ 500,000 บาท กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล  ประเทศไทย จำกัด มอบให้ 500,000 บาท และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มอบให้ 1,000,000 บาท

โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวี-เชพ ได้มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยกลุ่มไฟฟ้าได้เข้ามาร่วมสนับสนุนทุนการศึกษา และได้มีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาไฟฟ้าเพิ่มเติม  เมื่อปีการศึกษา 2561 รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในการผลิตกำลังคนในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อ

รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และการผลักดันโครงการฯ เพื่อก้าวสู่การผลิตและพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเคมี (Center of Excellence) ที่เป็นศูนย์ทดสอบและพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพช่างเทคนิคปิโตรเคมี ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล  และการพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศเยอรมนี เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  และกลุ่มบริษัทผู้สนับสนุนโครงการฯ จะได้ร่วมกันประชุม  หารือรายละเอียดข้อตกลงในการพัฒนาโครงการฯ ในระยะที่ 5 ต่อไป เลขาธิการคณะกรรมการ  การอาชีวศึกษากล่าว

โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) ฯ ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) มาบตาพุด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มูลนิธิศึกษาพัฒน์   กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ในการผลิต พัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา โดยเฉพาะช่างเทคนิคที่มีความสามารถเฉพาะทางด้านปิโตรเคมี ปัจจุบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้วทั้งหมด 9 รุ่น และกำลังจะจบในปีการศึกษา 2561 ช่วงเดือนมีนาคม 2562  รวมจำนวน 348 คน

 ////////////////////////////////////////////////

         กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.