กรมประมง เชิดชูเกียรติ “ฮีโร่” โลมา มอบประกาศเกียรติคุณและเงินสมนาคุณในการทำความดีปกป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจิรโรจน์ สำแดง นายอำเภอขนอม และนายธานินทร์ ด่านสุวรรณ นายกสมาคมประมงขนอม ลงพื้นที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่ นายวายุ นวลกุล ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างของการทำคุณประโยชน์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นแบบอย่างให้พี่น้องชาวประมงและประชาชน จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่นายวายุ นวลกุล หรือ น้องต๊ะ ไต๋เรือนำเที่ยว สังเกตเห็นแม่โลมากระโดดอยู่กลางทะเลบริเวณแถวหน้าอ่าวเตล็ด อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้ขับเรือเข้าไปใกล้ ๆ พบลูกโลมาติดอวนประมงลอยอยู่ และได้กระโดดลงไปเพื่อช่วยชีวิตจนสำเร็จ พร้อมกันนี้ ทางสมาคมประมงขนอมจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมประจำปีเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ประกอบอาชีพชาวประมงได้รับทราบ และจะพิจารณาการมอบเงินเพื่อตอบแทนความดีให้ในโอกาสต่อไป

ด้าน รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ กรมประมง ต้องขอขอบคุณ ยกย่อง และขอชื่นชมในความมีจิตสำนึกอนุรักษ์ต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ไม่นิ่งนอนใจเพิกเฉยต่อชีวิตสัตว์โลก เสียสละกระโดดลงไปในทะเล โดยไม่ห่วงความปลอดภัยของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือลูกโลมาหลังโหนกที่ติดอวนอยู่ในทะเล จนลูกโลมารอดปลอดภัย

ในการนี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารงานเพื่อสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยได้มีการจัดส่งข้อมูล ในระบบการรายงานอิเล็กทรอนิกส์ (International Affairs Information Capture and Reporting System : IAICRS) ไปยังสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ได้มีการเชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย จาก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป มาหารือถึงแนวทางการการดำเนินการ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566

ประเทศไทยมีเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ดังเห็นได้จากมาตรการต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งในเรื่องข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า ทำอันตราย หากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 66 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิต ของสัตว์น้ำนั้น ซึ่งมีบทกำหนดโทษหากฝ่าฝืนปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาท หรือปรับจํานวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนําขึ้นเรือประมง แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า

จากความพยายามของกรมประมงในการขับเคลื่อนการดำเนินการในทุกมิติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA ดังกล่าวแล้ว การมอบประกาศเกียรติคุณ ในการทำความดีปกป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมให้กับนายวายุ นวลกุล หรือ น้องต๊ะ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติที่สำคัญนอกเหนือสิ่งอื่นใด คือกลยุทธ์ด้านการสื่อสารกับภาคประชาสังคม เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม วิธีการช่วยชีวิตและลดการบาดเจ็บ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและช่วยชีวิตของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ตามแนวทางระบบการอนุรักษ์ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและเชื่อมต่อกันโดยหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 ชุด ได้แก่

1) คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

2) คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

3) คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566– 2570 ต่อไป