พช.ศรีสะเกษ เปิดตัวจุดเช็คอินใหม่ “ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอเบญจศรี” จับมือภาคีเครือข่ายการพัฒนา ลงพื้นที่ติดตามการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน วาระผ้าทอมือ “ศรีสะเกษ ธานีผ้าศรี…แส่ว” ครั้งที่ 1/2565

พช.ศรีสะเกษ เปิดตัวจุดเช็คอินใหม่ “ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอเบญจศรี” จับมือภาคีเครือข่ายการพัฒนา ลงพื้นที่ติดตามการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน วาระผ้าทอมือ “ศรีสะเกษ ธานีผ้าศรี…แส่ว” ครั้งที่ 1/2565 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากคนเมืองศรีภายใต้วาระการพัฒนาจังหวัด 1+10 วาง “เป้าหมาย” ขับเคลื่อนงานปี 65 “ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ” พัฒนาผ้าทอเบญจศรี สู่สากล

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 น. กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง หมู่ที่ 1 ตำบล หัวช้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ/ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และคณะฯ ลงพื้นที่เพื่อติดตามการขับเคลื่อนวาระจังหวัดศรีสะเกษ ผ้าทอมือ “ธานีผ้าศรี…แส่ว” ครั้งที่ 1/2565 เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่ายสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมและยกระดับผ้าทอจังหวัดศรีสะเกษให้มีมูลค่าเพิ่ม มีการพัฒนารูปแบบลวดลายที่ทันสมัย ตรงความต้องการของตลาด เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง หมู่ที่ 1 ตำบล หัวช้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายอำเภออุทุมพรพิสัย นายพรชัย วงศ์งาม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการอำเภออุทุมพรพิสัยร่วมให้การต้อนรับ

ในการนี้ นางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ พัฒนาการอำเภอฯ 22 อำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภออุทุมพรพิสัย และกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง นำโดย นายสิทธิ์ศักดิ์ ศรีแก้ว ประธานกลุ่มได้นำเสนอข้อมูลความเป็นมาของกลุ่มว่า แรกเริ่มเป็นกลุ่มฯ ที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมเป็นวิถีมาตั้งแต่ดั้งเดิมซึ่งทางกลุ่มฯ มีการทอผ้าไหมตลอดทั้งปี สมาชิกก็จะมารวมตัวกันในการทอผ้าไหม เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ผ้าไหมลายลูกแก้ว ฯลฯ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนจะมีความสามารถในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม และทำตามความถนัดของแต่ละบุคคล ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็จะเป็นการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ และผ้าทอเบญจศรีที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ จุดเด่นของกลุ่มคือทักษะด้านการย้อมสีธรรมชาติให้สวยงาม สีติดคงทน ซักแล้วสีไม่ตก ซึ่งกลุ่มฯได้มีการเรียนรู้และทดลองพัฒนา

กระบวนการการย้อมโดยใช้เทคนิคการนำน้ำสนิมเหล็กมาเป็นกระบวนการในการย้อมสีให้คงทน จนได้รับรางวัลตรานกยูงพระราชทาน และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย และสมาชิกกลุ่มที่มีฝีมือจนได้รับรางวัลประกวดระดับชาติ จะเป็นเยาวชนส่วนมาก เพราะกลุ่มเน้น การ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ภูมิปัญญจากรุ่นสู่รุ่น และพัฒนาทักษะฝีมือไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็น Generation 4 นับมาจากบรรพบุรุษ ตนในฐานะประธานกลุ่ม ได้ชักชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรัก ในการทอผ้าไหม และสืบทอดการทอผ้าไหมมาจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้แล้ว สมาชิกทุกคนในกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง ยังสามารถสืบทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชน และกลุ่มทอผ้าอื่นๆ ที่สนใจ และอยากให้จุดทอผ้าบ้านหัวช้างเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ครบวงจร ทั้งทางด้านการย้อม การทอและการแส่ว สามารถพัฒนาเป็นจุดท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าและเป็นจุดแสดงโชว์สินค้าผ้าไหมมัดหมี่ฯที่ได้รับรางวัลและผ้าที่ได้ทอถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของกลุ่มฯ โดยกิจกรรมที่นำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ มีดังนี้

1. การนำเสนอผลงานที่ชนะการประกวดรางวัลในระดับประเทศ ด้วยการเดินแบบผ้าอัตลักษณ์เบญจศรี และผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ

2. เส้นทางสายไหม กว่าจะเป็นแพรพรรณสวยงาม เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม กิจกรรมการย้อมผ้าสีธรรมชาติ ศรีมะดัน ที่ใช้เปลือกมะดันที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่น ไก่ย่างไม้มะดัน ของดี๊เมืองสีเกด ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษให้ความสำคัญทั้งเรื่องการจัดการขยะ ลดการเผาทำลายแก้ไขปัญหาหมอกควัน กิจกรรมการทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณ ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กิจกรรมการแส่วผ้าลายพื้นเมือง ลายประยุกต์ และลายอัตลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ การแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นจุดเช็คอิน ถ่ายภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหรือ กรุ้ปทัวร์ ที่ต้องการมาศึกษาดูงาน หรือมาเยี่ยมชมกลุ่ม

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษใช้กลไกการบริหารจัดการแบบประชารัฐที่มีทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภายในและภายนอกจังหวัดเข้ามามีส่วนในการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมติดตาม” โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนจังหวัดจึงได้ประกาศเป็นวาระ “1+ 10 วาระ การขับเคลื่อนจังหวัดสะเกษ บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีหนึ่งภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมดำเนินการ คือ “การปกป้องเชิดชูสถาบัน”สำหรับ 10 วาระจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเศรษฐกิจฐานราก ดังคำว่า “อะไร อะไร ก็ดี ที่ศรีสะเกษ” ผ่านวาระด้านเศรษฐกิจ โดยมีวาระผ้าทอมือ ศรีสะเกษ ธานีผ้าศรี…แส่ว ที่คณะทำงานขับเคลื่อนฯได้ร่วมกันพัฒนากันมาจนคว้ารางวัล PMQA ในปี 2564 และ ในปี 2565 ด้วยความร่วมมือจากทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ซึ่งจะนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะ “นวัตกรรม Encapsulation” กระบวนการที่สารหรือส่วนผสมของสาร ถูกเคลือบ ยึดจับ หรือเข้าใจง่ายๆเติมกลิ่นหอม มาพัฒนาผ้าทอเบญจศรี ยกระดับผ้าอัตลักษณ์ ด้านการผลิตผสานภูมิปัญญา ให้ ผ้าทอเบญจศรี

1) ประสิทธิภาพการผลิตสูง

2) คุณภาพผลิตภัณฑ์สูง

3) รายได้ผู้ประกอบการ OTOP สูง ซึ่งจะทำให้ผ้าทอเบญจศรีจังหวัดศรีสะเกษ เพิ่มมูลค่ามากขึ้นและก้าวสู่สากล ในการลงพื้นที่วันนี้เพื่อให้ทุกภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนในการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมติดตาม”
โอกาสนี้ขอเชิญคณะทำงานขับเคลื่อนช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด สินค้าภูมิปัญญาของชาวจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีรูปแบบสีสันที่ทันสมัยสามารถแข่งขันได้ ให้คนในชุมชนมีรายได้ ที่มั่นคง ยังยืน สามารถพึ่งตนเองได้

ในการนี้คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ผู้อำนวยการศูนย์ม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดศรีสะเกษ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้เพิ่มเติมประเด็นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในด้านตัวมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การตลาด การออกแบบดีไซน์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการประชาสัมพันธ์สื่อสารสร้างการรับรู้แก่บุคคลภายนอก เนื่องจากกลุ่มสตรีบ้านหนองหัวช้างนี้เหมาะที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว “เส้นทางผ้าทอเบญจศรี” ต่อยอด สินค้าภูมิปัญญาของชาวจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีรูปแบบสีสันที่ทันสมัยสามารถแข่งขันได้ และเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ ที่มั่นคง ยังยืน สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นการพัฒนารูปแบบ ส่งเสริม การยกระดับผ้าอัตลักษณ์ มีลวดลายทันสมัย เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ดังคำว่า “อะไรอะไรก็ดีที่ศรีสะเกษ”

พัฒนาชุมชนศรีสะเกษ : นครแห่งความสุข
กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน : รายงาน