หนุน ศพก. และเครือข่ายหยุดการเผาในไร่นา มุ่งเป้าลดพื้นที่หมอกควันสร้างต้นแบบชุมชน

กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรต่อเนื่อง มุ่งเป้าลดปัญหาหมอกควันโดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี เล็งใช้ ศพก. และเครือข่ายเป็นกลไกถ่ายทอดความรู้เกษตรกร เพื่อขยายผลสร้างการตระหนักรู้และต้นแบบชุมชนปลอดการเผา

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเร่งรัดจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดมลพิษและหมอกควันทำลายสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร และโครงสร้างดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยได้จัดตั้งศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผาเพื่อนำร่องสาธิตการใช้เทคโนโลยีการไถกลบตอซังฟางข้าวทดแทนการเผา โดยให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้บริหารจัดการการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายเกษตกรปลอดการเผาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเผาสูง

โดยในปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันได้สร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ประสบปัญหาหมอกควันรุนแรงเป็นประจำทุกปี ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ ตาก และอุตรดิตถ์ โดยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เทคนิคและวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา ส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันของเกษตรกรเป็นเครือข่ายปลอดการเผา สร้างวิทยากรอาสาสมัครด้านการทำเกษตรปลอดการเผา สนับสนุนให้เกิดจุดสาธิตเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาตามบริบทของชุมชน เช่น การไถกลบตอซัง การนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อาหารสัตว์ เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน การเพาะเห็ดฟาง รวมทั้งการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง เพื่อลดการเผาซังข้าวโพดบนพื้นที่สูง การจัดเวทีเสวนาเพื่อวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และระดมความคิดเห็นจัดทำแผนชุมชนเพื่อป้องกันการเผาในพื้นที่ การทำสัตยาบันในชุมชน เพื่อใช้เป็นมาตรการในการกำกับควบคุมในชุมชนเอง รวมทั้งเฝ้าระวังในช่วงภาวะวิกฤติหมอกควันช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี จากเครือข่ายที่ผ่านการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า มีเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา 1,374 เครือข่าย เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ รวม 64,250 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการพัฒนาเป็นวิทยากรเกษตรปลอดการเผา จำนวน 7,710 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 1.37 ล้านไร่ โดยในปี 2561 ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการเผาได้ 35,664 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 142 ล้านบาท เกิดพื้นที่การเกษตรปลอดการเผา รวม 100,320 ไร่

สำหรับในปี 2562 นอกจากจะดำเนินการใน 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้ขยายพื้นที่ไปยัง 16 จังหวัดที่มีการเผาในพื้นที่เกษตรสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี รวมทั้งเดินหน้าขยายเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผา ผ่านกลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายแปลงใหญ่ เพื่อให้การรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตรมีประสิทธิภาพ และกระจายความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2562 พร้อมทั้งจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดงานดังกล่าว ตลอดจนให้บรรจุประเด็นเรื่องการหยุดเผาเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. และเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับจังหวัด และระดับเขต และให้บรรจุเนื้อหาวิชาการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เป็นหนึ่งในหลักสูตรเสริมของ ศพก. สำหรับการอบรมเกษตรกรในทุกพื้นที่ โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดปัญหาหมอกควันในไร่นาโดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีเพิ่มขึ้น

*************************************